อาถรรพ์ บาตรแตก
สำหรับความเชื่อเรื่อง “บาตรแตก” เป็นความเชื่อที่มีอยู่กับชาวพุทธมานานหลายร้อยปีว่า “บาตร”[1] เป็นของที่ใช้กับพระสงฆ์องค์เจ้า ไม่เหมาะที่จะมาปรากฏอยู่ในเคหสถานโดยทั่วไปเนื่องจากเป็นของสูง ความเชื่อของในเรื่องดังกล่าว มิได้จำกัดเฉพาะอยู่เพียงแต่ในเรื่องของ “บาตร” และข้าวของเครื่องใช้ เครื่องนุ่งห่มของพระสงฆ์ แต่เพียงเท่านั้น แต่ยังรวมตลอดไปถึงข้าวของ เครื่องใช้ ทุกชิ้นที่เป็นของวัด ที่เกิดจากความศรัทธาของพุทธศาสนิกชน เช่น ไม้ ทราย ของวัด....
ความเชื่อเรื่อง “บาตรแตก” ในประเทศไทย จะปรากฏมากในภาคกลาง ยิ่งกว่าภาคอื่น แต่พระสงฆ์จะได้รับการอบรม ถ่ายทอด จากพระอุปัชฌาย์ [2]ว่า....ให้ดูแลรักษา “บาตร” ของตนให้ดีที่สุด เพราะมีความเชื่อว่า....
พระสงฆ์หนึ่งรูปจะมี “บาตร” ได้เพียงหนึ่งใบเท่านั้น ในสมัยโบราณ “บาตร” ทำจากดินเผา หรือไม้ หากเกิดรูรั่ว พระสงฆ์จะต้องชันยา เพื่ออุดรูรั่วนั้น และใช้บาตรนั้นต่อไป จนกว่าจะมีผู้นำ “บาตร” ใบใหม่มาถวาย แต่ในปัจจุบัน “บาตร” ทำจากเหล็กก็จะมีความทนทานขึ้น
พระสงฆ์จะได้รับการอบรมว่า...ให้เก็บรักษา “บาตร” ของตนไว้ให้ดีที่สุด ในกรณีที่มีการแตกหรือชำรุด พระสงฆ์เท่านั้นที่จะเป็นผู้เก็บรักษา และเก็บไว้ภายในวัด อย่าให้ไปตกอยู่ในมือของคนไม่มีศีลธรรม หรือจิตใจไม่ดี และอาจคิดร้ายต่อผู้อื่น เป็นเรื่องที่พระสงฆ์ต้องระวังอย่างมาก ในการเก็บรักษาให้พ้นจากมือของคนจิตใจไม่ดี ไม่มีศีลธรรม....เพราะคนจิตใจไม่ดีบางคน อาจนำ “บาตร” นั้น ไปใช้ในทางที่ไม่ถูกไม่ควร เพื่อให้เกิดผลในทางอาถรรพ์กับผู้ที่ตนมุ่งร้าย เพราะเพียงแค่นำ “บาตร” นั้น ไปทิ้งไว้ตามเรือกสวน ไร่นา หรือนำไปโยนใส่ไว้ใต้ถุนบ้านของคนที่ตนมุ่งร้าย ก็สามารถทำให้บ้านนั้น เกิดความเดือดร้อน เกิดการทะเลาะเบาะแว้ง เกิดความแตกแยก และหากผู้ไม่มีศีลธรรมผู้นั้นลงคาถาอาคมกำกับชิ้นส่วน “บาตรแตก” ได้....อาถรรพ์ที่จะเกิดขึ้นกับเจ้าของบ้านหลังนั้น จะมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
โดยทั่วไป.....หาก “บาตรแตก” สามารถพบเห็นได้ด้วยตาเปล่า การจะนำ “บาตรแตก” นั้น ออกจากสถานที่ จะต้องใช้พระสงฆ์ที่สามารถกำกับคาถา ลงอาคมได้ มาเป็นผู้ทำพิธีถอน “บาตรแตก” นั้น ออกไป และทำบุญเสริมให้กับเจ้าของบ้านเพื่อเพิ่มความสบายใจ....ในกรณีที่ไม่สามารถเห็น “บาตรแตก” ได้ แต่ทราบจากผู้ที่สามารถสัมผัสทางใน ที่เจ้าของบ้านนั้นศรัทธา ก็ต้องทำพิธีถอนเพื่อแก้ไขเช่นเดียวกัน.....
แต่ความเชื่อที่ว่ามี่ “บาตรแตก” ในบ้าน โดยเราไม่สามารถมองเห็น......ควรใช้วิจารณญาณว่าได้รับทราบจากผู้ที่เราเชื่อถือได้จริงๆ หรือไม่ เนื่องจากบางครั้ง ผู้ทำนายทายทัก อาจใช้ความคาดเดาเพียงว่า....บ้านนี้ไม่มีความสุข ได้รับความเดือดร้อน พี่น้องทะเลาะเบาะแว้งกัน จนหาความสุขไม่ได้...จึงนำไปโยงเข้ากับเรื่อง “บาตรแตก” ซึ่งอาจทำให้ผู้รับฟังเกิดความวิตก ไม่สบายใจ จนหาความสุขไม่ได้เช่นกัน....วิธีการแก้ไขก็อาจใช้วิธีเดียวกันกับกรณีไม่เห็น “บาตรแตก”แต่หากมิได้เชื่อถืออย่างจริงจังก.....หากได้รับการทำนายทายทักในเรื่องดังกล่าว อย่างน้อยที่สุดผู้ถูกทัก ก็ควรทำบุญ เสริมบารมี ให้กับตนเอง.....เท่านั้นเอง
_____________________________________________
[1] บาตร เป็นหนึ่งในอัฐบริขาร ๘ อย่าง เป็นของที่พระภิกษุและสามเณรใช้ในการบิณฑบาตลักษณะของบาตรในพระธรรมวินัย
พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ว่าบาตรมี 2 ชนิดเท่านั้นคือบาตรดินเผาและบาตรเหล็กรมดำ โดยมีขนาดตั้งแต่ 7-11 นิ้ว และพระพุทธองค์ทรงห้ามไม่ให้ภิกษุใช้บาตรที่ทำจากวัสดุที่มีค่าเช่น เงิน ทอง ทองเหลือง ทองแดง ในปัจจุบัน วัดส่วนใหญ่อนุโลมให้ใช้บาตรที่ทำจากสแตนเลส เนื่องจากทำความสะอาดง่ายและสะดวกต่อการดูแล ส่วนฝาบาตรในสมัยก่อนนั้นทำจากไม้ ก็เปลี่ยนมาใช้เป็นฝาสแตนเลสแทน แต่ในบางที่ในภาคอีสานยังใช้ฝาบาตรที่ทำจากไม้อยู่
[2] อุปัชฌาย์ (/อุ-ปัด-ชา/ หรือ /อุบ-ปัด-ชา/) ความหมายโดยพยัญชนะว่าผู้เข้าไปเพ่ง กล่าวคือ ได้แก่ผู้คอยดูแลเอาใจใส่ คอยแนะนำพรำเตือนสัทธิวิหาริก (ลูกศิษย์) ของตน ซึ่งก็คือพระเถระผู้ทำหน้าที่เป็นประธานในการบวชกุลบุตรในพระพุทธศาสนา เรียกทั่วไปว่า พระอุปัชฌาย์ ในภาษาอังกฤษเรียกว่า "Preceptor"
พระอุปัชฌาย์มีหน้าที่หลัก 2 อย่างคือเป็นผู้รับผิดชอบและรับรองผู้บวชในพิธีบรรพชาอุปสมบทและเป็นผู้รับปกครองดูแล แนะนำ ตักเตือนและติดตามความเป็นอยู่ของผู้ที่ตนบวชให้ เหมือนบิดาปกครองดูแลบุตร ตามกฎมหาเถรสมาคมนั้นได้กำหนดให้เขตปกครองคณะสงฆ์ตำบลหนึ่ง ให้มีพระอุปัชฌาย์เพียงหนึ่งรูป เว้นแต่ มีกรณีพิเศษ
ความคิดเห็น