อาถรรพณ์บ้านพิษณุโลก


อาถรรพณ์บ้านพิษณุโลก



เสียงล่ำลือ

   บ้านพิษณุโลก มีกิตติศัพท์ร่ำลือ กันว่าผีดุ จนเป็นเหตุให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ พักได้เพียง 2 วันเท่านั้น ก็ย้ายออกไป แต่เมื่อ สื่อมวลชน ไปสัมภาษณ์ พล.อ. เฟื่องเฉลย อนิรุทธเทวา ที่เคยพักอาศัยในบ้านหลังนี้ ในสมัยเด็ก ก็ได้รับการยืนยันว่า ไม่เคยได้ยินเกี่ยวกับเรื่องผีดุแต่อย่างใด ทั้งๆ ที่ตนอาศัยอยู่ตั้งแต่เด็กจนหนุ่ม จนกระทั่งรัฐบาลจอมพล ป. ซื้อบ้านหลังนี้ไป

   แต่กิตติศัพท์เรื่องผีดุนี้ ก็ได้รับการตอกย้ำ จนไม่มีนายกรัฐมนตรีคนใด ย้ายเข้าไปพักอย่างเป็นทางการ แม้แต่นายชวน หลีกภัย ซึ่งไม่มีบ้านพักของตัวเองในกรุงเทพฯ ในสมัยที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทั้งสองสมัย ก็ไม่ได้ย้ายเข้าไปพำนัก แม้ว่า บ้านพักซอยหมอเหล็ง ของนายชวน จะเล็กและคับแคบก็ตาม แต่ก็ใช้บ้านพิษณุโลกรับรองแขกของนายกรัฐมนตรีเท่านั้น

ประวัติ

   บ้านพิษณุโลกนี้เดิมชื่อ “บ้านบรรทมสินธุ์” เป็นคฤหาสน์คู่บุญกับตึกไทยคู่ฟ้า หรือ “ตึกไกรสร” หรือ “บ้านนรสิงห์” ที่ปัจจุบันเป็นทำเนียบรัฐบาล เป็นสถาปัตยกรรมอิตาลี อายุกว่า 70 ปีแล้ว รัชกาลที่ 6 ทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างบ้านให้กับ 2 พี่น้องมหาดเล็กประจำพระองค์ 

เจ้าพระยารมราฆพ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ) – บ้านนรสิงห์

เจ้าพระยาอนิรุทธเทวา (ม.ล.ฟื้น พึ่งบุญ) – บ้านบรรทมสินธุ์

   ต่อมาทั้ง 2 ท่านทูลเกล้าถวายให้กับรัชกาลที่ 7 เพราะจ่ายค่าบำรุงรักษาไม่ไหว แต่ทรงปฏิเสธ กระทั่งท้ายที่สุดรัฐบาลไทยสมัยจอมพลป. พิบูลสงครามได้ตัดสินใจซื้อไว้ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ญี่ปุ่นมาขอซื้อเพื่อใช้เป็นสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ที่จะขายให้ญี่ปุ่นไม่ได้ก็เพราะเหตุผลทางยุทธศาสตร์ เนื่องเพราะในยุคนั้นคฤหาสน์ทั้งสองอยู่ติดกับกองพันทหารราบที่ 3 หลังจากนั้นรัฐบาลก็ใช้บ้านนรสิงห์เป็นทำเนียบรัฐบาล 

 ส่วนบ้านบรรทมสินธุ์ตั้งใจให้เป็นเสมือนสถานที่รับรองแขกเมือง แต่ก็ไม่ค่อยใช้กันมากนัก เลยมีลักษณะเหมือนบ้านร้าง และทรุดโทรมลงไปมาก พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ สมัยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2522 มีแนวคิดให้ปรับปรุงซ่อมแซมเป็นบ้านพักประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ด้วยงบประมาณ 10 ล้านบาท แต่ก็พ้นจากตำแหน่งไปก่อน งานปรับปรุงจึงมาเสร็จในยุคพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์  พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์เคยเข้าไปพักอยู่เพียง 2 คืน จากนั้นก็ต้องกลับไปนอนที่บ้านสี่เสาเทเวศร์เหมือนเดิม ก็เลยเริ่มร่ำลือกันต่าง ๆ นานา

   เรื่องอาถรรพณ์ที่เล่าลือต่อ ๆ กันมา แต่ไม่รู้ว่ามีใครเคยเห็นจริงหรือไม่ ก็จะเป็นเรื่องของ “เจ้าที่” ที่ “แรง” มีเสียงแปลก ๆ ที่มาจากรูปปั้นต่าง ๆ ภายในบริเวณบ้าน เช่น ม้า รูปปั้นโรมัน รวมไปถึงงูยักษ์ที่ออกมาเลื้อยให้เห็น ซึ่งก็ออกจะเป็นธรรมดาของบ้านเก่าในยุคเดียวกัน เช่น ที่ “บ้านพระอาทิตย์” นี่ก็มี ส่วนต้นวงศ์ของท่านเจ้าของเดิม (ม.ล.เฟื้อ – ม.ล.ฟื้น พึ่งบุญ) คือ พระองค์เจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงรักษ์รณเรศ ที่มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าไกรสร” นั้นท่านทรงเป็นพระเจ้าลูกยาเธอในสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1เป็นพระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลที่ 1 จำนวน 1 ใน 4 พระองค์ที่ดำรงพระชนมชีพอยู่ในขณะที่สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ทรงประชวรและเสด็จสวรรคต คือ

พระเจ้าน้อยยาเธอ กรมหมื่นศักดิพลเสพ (พระองค์เจ้าอรุโณทัย) 
พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นเทพพลภักดิ์ (พระองค์เจ้าอภัยทัต) 
พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสุรินทรรักษ์ (พระองค์เจ้าฉัตร) 
พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นรักษ์รณเรศ (พระองค์เจ้าไกรสร)

ทั้ง 4 พระองค์มีพระนามผูกอยู่ในคำกลอนบาทแรก ที่ว่ากันว่าเป็นกลอน “พระนามลูกรัก” ในรัชกาลที่ 1 คล้องจองกันดังนี้

อรุโณทัย อภัยทัต ฉัตร ไกรสร

สุริยวงศ์ สุริยา ดารากร

ศศิธร คันธรส วาสุกรี

สุทัศน์ อุบล มณฑา

ดวงสุดา ดวงจักร มณีศรี

ธิดา กุณฑล ฉิมพลี

กระษัตรี จงกล สุภาธร

   พระองค์เจ้าไกรสรประสูติเมื่อปี 2334 ทรงร่วมเจ้าจอมมารดาเดียวกันกับพระองค์เจ้าอภัยทัต คือเจ้าจอมมารดาน้อยแก้วได้ทรงกรมในรัชกาลที่ 2 เป็น กรมหมื่นรักษ์รณเรศ พระชันษา 25 พระองค์ทรงถูกพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ถอดถอนพระยศจาก “พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าไกรสรกรมหลวงรักษ์รณเรศ” ลงเป็นเพียงที่ “หม่อมไกรสร” และโปรดฯให้สำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ เพราะพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกลัวว่าจะเป็นภัยต่อราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 

   ด้วยเมื่อสมเด็จพระบวรราชเจ้ากรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ เสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าไม่ทรงตั้งวังหน้าพระองค์ใหม่ เพราะทรงตั้งพระทัยจะมอบราชสมบัติให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงผนวชอยู่ตั้งแต่ทรงขึ้นครองราชย์แล้ว ในการนี้ทรงตั้งกรมเจ้านายหลายพระองค์ หนึ่งในนั้นก็มีกรมหลวงรักษ์รณเรศอยู่ด้วยพระองค์หนึ่ง ว่ากันว่า กรมหลวงรักษ์รณเรศทรงผิดหวัง และทรงมีพฤติกรรมในทำนองซ่องสุมผู้คนไว้ ความทราบถึงพระเนตรพระกรรณบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงโปรดเกล้าให้ชำระคดีความ กรมหลวงรักษ์รณเรศทรงให้การในทำนองว่า... 

"ไม่ได้คิดร้ายต่อราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ แต่จะไม่ขอเป็นข้าแผ่นของผู้ใดเมื่อเปลี่ยนแผ่นดินใหม่" 

   นั่นถูกแปลความหมายว่า ทรงหมายถึงว่าเมื่อสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต พระองค์ก็จะทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินเสียเอง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงให้ลงโทษดังกล่าว ราชสกุล “พึ่งบุญ ณ อยุธยา” เข้ารับราชกาลในตำแหน่งหน้าที่สำคัญ ๆ มากมายที่ได้ใกล้ชิดพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เช่น พระนมทัต พึ่งบุญ ณ อยุธยา พระนม (แม่นม) ในพระองค์, เจ้าพระยาราราฆพ และพระยาอนิรุทธ์เทวา เป็นต้น นี่ก็อาจจะเป็นที่มาที่ร่ำลือกันว่า “เจ้าที่” ที่บ้านพิษณุโลกนั้น “แรง” ก็เป็นได้





ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้