ท้าวหิรัญพนาสูร


   


   พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้รับการศึกษาจากประเทศอังกฤษ ในขณะที่มีการค้นคว้าเรื่องราวทางภารตวิทยาของอินเดียหรืออนุทวีป ในฐานะเมืองขึ้นของจักรวรรดิอย่างคึกคัก ส่งผลให้พระองค์ทรงสนพระทัยในเรื่องราวอันเร้นลับของอินเดียที่ถ่ายทอดผ่าน คัมภีร์และปกรณัมต่างๆ และทรงเป็นต้นแบบในการรับเอาคติความเชื่อต่างๆ เกี่ยวกับ "ภารตะวิทยา"


        ท้าวหิรัญพนาสูรปรากฏขึ้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว คำว่า "หิรัญ" หมายถึงเงิน สีเงิน หรือบางแห่งแปลความหมายว่าทอง ส่วน "พนาสูร" เป็นคำเชื่อมกันระหว่าง "พนา" แปลว่า "ป่า" กับ "อสูร" ดังนั้น จึงสื่อความหมายถึงเทพาสูรผู้เป็นใหญ่แห่งป่า ซึ่งพระองค์ทรงเรียกว่า "ท้าวหิรัญฮู" มีผู้อธิบายว่า "ฮู" มาจาก "Who" ในภาษาอังกฤษ เนื่องจากในปี พ.ศ.2449 ขณะที่ยังทรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงเสด็จประพาสมณฑลพายัพ ซึ่งเส้นทางในสมัยนั้นเต็มไปด้วยป่าเขา ภยันตราย และโรคภัยไข้เจ็บ ขณะเมื่อทรงจะออกจากอุตรดิตถ์ข้าราชบริพารที่ตามเสด็จรู้สึกหวั่นวิตกต่อ ภยันตราย พระองค์จึงทรงมีพระราชดำรัสว่า "ธรรมดาเจ้าใหญ่นายโตจะเสด็จ ณ ที่แห่งใดๆ ก็ดี คงจะมีทั้งเทวดาและปีศาจฤๅอสูร อันเป็นสัมมาทิฏฐิ คอยติดตามป้องกันภยันตรายทั้งปวง มิให้มากล้ำกรายพระองค์และบริวารผู้โดยเสด็จได้ ถึงในการเสด็จครั้งนี้ก็มีเหมือนกัน อย่าให้ผู้หนึ่งผู้ใดมีความวิตกไปเลย"



       ด้วยกระแสพระราชดำรัสดังกล่าว ทำให้บรรดาข้าราชบริพารขุนนางใหญ่น้อยอุ่นใจคลายความกังวล ในขณะเสด็จประพาสนั้นปรากฏมีข้าราชบริพารชั้นผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเกิดนิมิตฝัน เห็นบุรุษผู้หนึ่งร่างสูงใหญ่ล่ำสัน บอกนามว่า "หิรัญ" และแจ้งว่าตนเป็นอสูรแห่งป่า เป็นผู้ตั้งอยู่ในสัมมาปฏิบัติ จะคอยดูแลปกป้ององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และข้าราชบริพารในขณะเดินทาง จึงทรงโปรดฯ ให้ตั้งเครื่องสังเวยในป่าริมพลับพลานั้น และเมื่อทรงเสวยก็จะแบ่งพระกระยาหารไปตั้งเป็นเครื่องเซ่นเสมอๆ ปรากฏว่าการเสด็จพระราชดำเนินหัวเมืองพายัพครั้งนั้นปราศจากเภทภัย อันตราย ไม่มีใครเจ็บไข้ได้ป่วย และประสบความสำเร็จสมดังตั้งพระราชหฤทัยไว้ทุกประการ

      ด้วยเหตุ ดังกล่าวการเสด็จประพาสในคราวต่อๆ มาข้าราชบริพารจึงทำพิธีอัญเชิญเทพาสูรที่ปรากฏในนิมิตตามเสด็จไปด้วยทุก ครั้ง และมีผู้คนมากมายพบเห็นบุรุษในลักษณาการอย่างโบราณ รูปร่างสูงใหญ่ นั่งบ้าง ยืนบ้าง ตามขบวนเสด็จไปด้วยเป็นอันมาก จนข่าวคราวร่ำลือถึงข้าหลวงมณฑลเทศาภิบาลต่างๆ ทำให้ผู้คนเลื่อมใส เคารพท้าวหิรัญพนาสูรกันแต่ครั้งนั้น และโปรดให้หล่อรูปท่านท้าวประดิษฐานไว้ประจำพระราชวังพญาไท "รูปท้าวหิรัญพนาสูร" จึงกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผู้คนเคารพกราบไหว้ให้ป้องกันภยันตราย ให้ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ และประสบความสำเร็จในกิจการงานต่างๆ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา


   จากนั้นก็มีเรื่องเล่าขานเกี่ยวกับกิตกศัพท์ความศักดิ์สิทธิ์ของ ท้าวหิรัญพนาสูร อีกเยอะแยะมากมาย เช่น มหาดเล็กคนสนิทของรัชกาลที่ 6 ผู้หนึ่ง คือ "จมื่นเทพดรุณทร" ท่านผู้นี้ได้เล่าให้ข้าราชบริพารฟังต่อ ๆ กันมาว่า "ในหลวง (ร.6) ทรงเรียกท้าวหิรัญพนาสูรว่า "ตาหิรัญฮู" ซึ่งคนในวังสมัย ร.6 จะรู้ถึงกิตติศัพท์ของ "ตาหิรัญฮู" ดีว่าสำแดงเดชและอภินิหารอย่างไรบ้าง จึงเล่ากันปากต่อปากเรื่อยมา อย่างเรื่องแรกเกิดขึ้นเมื่อรัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างรูปท้าวหิรัญพนาสูร โดยให้พระยาอาทรธรศิลป์ (ม.ล.ช่วง กุญชร) เป็นผู้ดำเนินการ โดยมีมิสเตอร์แกลเลตตี นายช่างชาวอิตาเลี่ยนที่มาทำงานในกรมศิลปากรเป็นผู้หล่อ เมื่อหล่อเสร็จก็จะยกขึ้นตั้งบนฐานในพระราชวังพญาไท มิสเตอร์แกลเลตตีก็เอาเชือกผูกคอท้าวหิรัญฮูชักรอกขึ้นไป เสร็จแล้วมิสเตอร์แกลเลตตีก็ป่วยกะทันหันทำงานไม่ได้ เพราะคอเคล็ดโดยไม่รู้สาเหตุ พอพระยาอาทรไปเยี่ยม ท่านพอจะรู้สาเหตุจึงบอกว่าคงเป็นเพราะเอาเชือกไปผูกคอรูปหล่อท้าวหิรัญฮู ให้เอาดอกไม้ ธูป เทียนไปขอขมาเสีย เมื่อนายช่างชาวอิตาเลี่ยนทำตามคอที่เคล็ดจึงกลับมาเป็นปกติอย่างอัศจรรย์


   อีกเหตุการณ์หนึ่งเกี่ยวกับ "ท้าวหิรัญพนาสูร" ที่เล่ากันมา เกิดขึ้นเมื่อครั้งที่รัชกาลที่ 6 สวรรคตแล้วรัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสวยราชย์ต่อ วันหนึ่งพระองค์ได้เสด็จฯ ตรวจรถยนต์พระที่นั่ง ซึ่งเป็นพระราชมรดก โดยมีกรมหมื่นอนุวัติจาตุรนต์เสด็จไปด้วย กรมหมื่นฯ ท่านนี้ได้กราบทูลขอรถยนต์คันหนึ่ง ซึ่งมีรูปท้าวหิรัญฮูติดอยู่ด้วย ซึ่งรัชกาลที่ 7 ก็พระราชทานให้ เล่ากันว่าเมื่อเอารถกลับไปไว้ที่วังสี่แยกหลานหลวง คืนนั้นก็นอนไม่หลับ ได้ยินเสียงกุกกัก ๆ ในโรงเก็บรถทั้งคืน ครั้งลุกไปดูก็ไม่เห็นมีอะไร จึงคิดว่าอาจเป็นเสียงหนู แต่ขณะที่กำลังคิดในทางที่ดีก็ต้องสะดุ้งสุดตัว เพราะจู่ ๆ ไฟในโรงรถก็เกิดสว่างจ้าขึ้นมาเฉย ๆ ทั้ง ๆ ที่โรงรถปิดอยู่ จึงเรียกคนขับรถและมหาดเล็กไปช่วยกันดู แต่พอเปิดประตูโรงเก็บรถก็ต้องใจหายเป็นครั้งที่ 2 เพราะไม่มีใครอยู่ในนั้นเลย และยังน่าสงสัยที่เห็นรถจอดขวางโรง ซึ่งแต่แรกไม่ได้จอดในลักษณะนี้ จึงต้องช่วยกันกลับรถจอดใหม่ จากนั้นรุ่งขึ้น กรมหมื่นอนุวัติจาตุรงค์ต้องจัดเครื่องเซ่นสังเวยท้าวหิรัญฮูเพื่อขอขมา และไม่กล้าใช้รถพระราชทานคันนั้นอีกเลย

   อภินิหารของท้าวหิรัญพนาสูรยังมีเล่าอีกหลายเรื่อง อีกเรื่องหนึ่งเกิดขึ้นกับเชื้อพระวงศ์ในตระกูลดิศกุลพระองค์หนึ่ง เมื่อครั้งที่ประชวรปัสสาวะเป็นเลือด ท่านได้เสด็จมารักษาที่โรงพยาบาลพญาไท หมอเอกซเรย์ดูบอกว่าต้องผ่าตัด บรรดาพระญาติทราบถึงประวัติท่านท้าวหิรัญฮูดี จึงเอาดอกไม้ ธูป เทียนไปสัการะรูปหล่อ ซึ่งประดิษฐานอย่ในบริเวณโรงพยาบาล ผลปรากฎว่าโรคที่เป็นกลับหายโดยไม่ต้องผ่าตัดอย่างไม่น่าเชื่อ



    ทุกวันนี้ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎฯ ยังมีคนมากราบไหว้ "ท้าวหิรัญพนาสูร" อยู่ไม่ขาด โดยศาลของท่านตั้งอยู่ด้านหลังโรงพยาบาล ซึ่งแม้รัชกาลที่ 6 จะสวรรคตไปนานแล้ว หน้าที่ของ "ท้าวหิรัญพนาสูร" ก็ยังคงดูแลช่วยเหลือคนไข้และคนดีอยู่ตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับว่าใครจะติดต่อหรือมองเห็นท่านได้ เพราะท่านอยู่คนละภูมิ ซึ่งซ้อนอยู่กับภูมิมนุษย์ของเรา 









ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้