เดจาวู




Dejavu มาจากคำว่า déjà vu  ซึ่งเป็นคำภาษาฝรั่งเศส ถ้าแปลตามตัวก็จะแปลว่า เคยเห็น / เคยรู้สึกมาแล้ว เป็นคำอธิบายปรากฏการณ์ทางจิตและความรู้สึกของมนุษย์ ที่คนๆ นึง เมื่อมาอยู่ในสถานหรืออยู่ในเหตุการณ์นึงเป็นครั้งแรกในชีวิต แต่กลับรู้สึกคุ้นกับเหตุการณ์นี้มาก คล้ายกับว่ามันเกิดขึ้นมาแล้ว แต่ไม่รู้ว่าเป็นความจริงหรือความฝัน!! 

         ความรู้สึกนี้จะแตกต่างจากลางสังหรณ์ อยู่นิดหน่อย พูดง่ายๆ ก็คือ ลางสังหรณ์เราจะรู้ว่ามันจะเกิดขึ้น(มีทั้งลางดีและไม่ดี) ซึ่งถ้าเป็นลางไม่ดี เราก็จะหาทางแก้ไขได้ เช่น ฝันว่าเพื่อนกำลังข้ามถนนเข้าโรงเรียน จู่ๆ ก็มีรถสีขาวขับมาด้วยความเร็วสูงขับชน พอมาเจอสถานการณ์จริงๆ เหมือนในฝัน เราเห็นรถสีขาวขับมาอย่างเร็ว เราจะคุ้นมันมาก เราก็จะห้ามเพื่อนได้ว่าอย่าเพิ่งข้าม เพราะเรารู้สิ่งที่จะเกิดขึ้นจึงเตือน เพื่อนก็จะรอดจากรถชน 



   ส่วนเดจาวูเราจะตรงกันข้ามตรงที่ เราอยู่ในเหตุการณ์หนึ่ง แต่เรากลับสะดุ้งโหยง เพราะรู้สึกว่าเหตุการณ์นี้มันเคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต และทุกอย่างที่เป็นองค์ประกอบ ทั้งคน สถานที่ สิ่งของ เหมือนกันหมด ซึ่งบางครั้งก็สามารถคาดเดาอนาคตต่อไปได้ด้วย แต่ความรู้สึกนี้จะเกิดขึ้นแป๊บเดียว ประมาณ 5-10 วินาที แล้วก็หายไปให้เรางงเล่นๆ ซึ่งจากการสำรวจจากต่างประเทศ พบว่าจะเกิดขึ้นในช่วงอายุ 15 - 25 ปี

     ซึ่งจุดสำคัญของ เดจาวู ก็คือ เรื่องที่เรารู้สึกว่าเคยเกิดขึ้นมาแล้วนั้นมันเป็นเรื่องธรรมดาๆ ในชีวิตประจำวัน แต่กลับมีรายละเอียดที่ไม่น่าเชื่อมาเชื่อมโยงกัน เช่น จำได้ว่าเหตุการณ์มีใคร กำลังทำอะไรอยู่บ้าง อยู่ตรงไหน ซึ่งจำได้แม้กระทั่งคำพูดหรือการแสดงออกของคนที่อยู่ในเหตุการณ์นั้น เช่น กำลังนั่งกินข้าวกับเพื่อนที่ห้างหลังเรียนพิเศษและกำลังวิจารณ์อาหารร้านนั้นอย่างเมามันส์ว่า ร้านนี้อาหารไม่อร่อยเลย จังหวะนั้นอยู่ดีๆ ก็มีความรู้สึกว่า เอ๊ะ! เหตุการณ์นี้คุ้นๆ แฮะ เหมือนเราเคยมานั่งร้านนี้ กับเพื่อนกลุ่มนี้ มากินที่ห้างนี้ ตอนหลังเลิกเรียนและกำลังพูดวิจารณ์รสชาติอาหารนี้อยู่ด้วย โอ้ว..อัศจรรย์มากๆ แต่มันน่าอัศจรรย์กว่านั้นตรงที่ว่าเราเคยมากินร้านนี้ครั้งแรก!!



      ดร.เวอร์นอน เอ็ม เนปเป (Dr.Vernon M. Neppe) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเดจาวู ได้แบ่งประสบการณ์เดจาวูออกเป็นถึง 21 แบบ ตัวอย่างเช่น

            déjà senti (already felt) = เคยรู้สึกเช่นนี้มาแล้ว
            déjà entendu (already heard) = เคยได้ยินมาแล้ว
            déjà eprouvè (already experienced) = เคยมีประสบการณ์มาแล้ว
            déjà rencontrè (already met) = เคยเจอคนนี้มาแล้ว (อันนี้หวังว่าจะไม่ใช่มุขจีบหญิงนะ เอ..เราเคยเจอกันที่ไหนมาก่อนหรือเปล่า เธอหลุดออกมาจากจินตนาการของผมแบบเป๊ะๆ ฮ่าๆ) 

   โดยความคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ถูกมองว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำงานของสมองและระบบประสาท ทางการแพทย์เรียกว่า การไหลของคลื่นกระแสไฟฟ้าในสมองเกิดการผิดปกติ โดยปกติ เมื่อสมองรับภาพมาจากประสาทตา ก็จะนำมาแปลผล ทำให้รู้ว่าภาพหรือเหตุการณ์ที่เราเห็น มันคืออะไร โดยข้อมูลจากประสาทตาซ้ายจะเข้าสมองซีกขวา ประสาทตาขวาเข้าสมองซีกซ้าย เรียกว่าทั้งสมองทั้งสองต้องทำงานร่วมกันอย่างสามัคคี แต่ถ้าสมองข้างนึงเกิดส่งข้อมูลมาช้าไปนิดเดียว ก็จะแปลความหมายของภาพนั้นว่า เป็นภาพจากความจำ จึงรู้สึกว่าเคยเจอเหตุการณ์นี้มาก่อน แต่จำเวลาไมได้ว่าเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แต่ความจริงแล้วเป็นแค่ความคิดที่คิดไปเองว่าเคยเกิดขึ้น แต่จริงๆ แล้วไม่เคยเกิดขึ้นมานั่นเอง



            จริงๆ แล้วยังมีอีกหลายทฤษฎีที่พยายามอธิบายเหตุการณ์ Dejavu ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร เช่น เกิดจากระบบความจำส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดึงข้อมูลออกมาใช้ไม่ทำงาน แต่ส่วนที่ทำงานเกี่ยวกับความคุ้นเคยทำงานผิดปกติ แต่ความคิดนี้ก็ถูกแย้งแล้วมองว่าระบบทั้งสองน่าจะทำงานไม่พร้อมกันมากกว่า หรือแม้แต่ซิกมันด์ ฟรอยด์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา ยังโยงไปถึงจิตวิทยาได้ว่า เกิดจากการนึกถึงภาพหรือเหตุการณ์ต่างๆ ในช่วงที่เราขาดสติ ทำให้รายละเอียดของภาพจึงไม่ชัด แต่ว่าเราจะมีความรู้สึกคุ้นเคยออกมา กลายเป็นเดจาวูนั่นเอง

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้