ผีเข้าในมุมมองของจิตเวช

ผีเข้าในมุมมองของจิตเวช




ผีเข้า ในมุมมองจิตเวช

ผีเข้า...!! เด็กสาววัยรุ่นคนหนึ่งวิ่งร้องไห้ด้วยความหวดกลัวสุดขีด กรี๊ดๆๆๆ มือเท้าเกร็ง เริ่มร้องเอะอะโวยวายสลับกับเสียงหวีดร้อง พูดเพ้อเจ้อ แสดงกริยาก้าวร้าวชี้หน้าด่าทอ บุคคลใกล้เคียง จากนั้นคนอื่นๆ ที่อยู่ในเหตุการณ์ก็เกิดอาการลักษณะคล้ายๆ กัน ทีละคนๆๆ... อาการเหล่านี้เกิดจากอะไรกัน ??? 

หลายคนเชื่อว่า อาการเหล่านี้เกิดจากไสยศาสตร์ มนต์ดำ เทวดา ผีสาง นางไม้ เจ้าที่ วิญญาณ ฯลฯ แต่สำหรับตัวผู้เขียนเองต้องบอกกันตรงๆ ว่า เรื่องไสยศาสตร์เป็นเรื่องยากที่จะพิสูจน์ให้บุคคลที่มีความเชื่อในเรื่องเหล่านี้ปรับเปลี่ยนความคิดที่จะไม่เชื่อได้ 

ผู้เขียนในฐานะนักจิตวิทยา อธิบายกลไกการเกิดอาการดังกล่าวโดยใช้เหตุผลทางวิทยาศาสตร์ได้ว่า อาการเหล่านี้ คือการเจ็บป่วยเป็นกลุ่ม ซึ่งสาเหตุของอาการเกิดจากด้านร่างกายและจิตใจ เช่น ชัก เกร็งกล้ามเนื้อ หายใจถี่ แน่นหน้าอก เป็นลม หมดกำลัง ฯลฯ ส่วนอาการทางจิตใจ เช่น หวีดร้อง ตกใจกลัว หวาดผวา พูดเพ้อ ถ้าเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ก็อาจบอกได้ว่าเป็นท่าทางหรืออาการคล้ายคนถูกผีเข้านั่นเอง 

บางรายเห็นภาพหลอน แสดงกิริยาก้าวร้าวออกมา พฤติกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นพร้อมๆ กันหรือในเวลาใกล้เคียงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปจนถึงกลุ่มใหญ่ๆ เมื่อใดที่คนหนึ่งเกิดอาการขึ้นก็เสมือนหนึ่งว่าเป็นตัวกระตุ้น “อารมณ์ร่วม” ของคนข้างเคียงในกลุ่มให้แสดงออกตามๆ กันไป 

เป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ คล้ายๆ “ติดเชื้อ” หรือ “ระบาด” อาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นเองหรือคล้ายจงใจจะให้เกิดขึ้นก็ได้ ปัจจุบันรู้จักโรคนี้ในชื่อ “อุปทานหมู่ / อุปทานกลุ่ม” (Mass Hyteria)   นั่นเอง ซึ่งกลไกของพฤติกรรมการเจ็บป่วยนี้ พอจะสรุปสาเหตุหลักๆ ได้ ดังนี้ 



1. วัฒนธรรม ความเชื่อ ค่านิยม 


 คือการยึดมั่นอยู่กับขนบประเพณีเก่าๆ ซึ่งมีความเชื่องเรื่อง ผี วิญญาณและไสยศาสตร์ค่อนข้างสูง เช่น เชื่อในพลังอำนาจของบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว เช่น “ตายายมโนราห์” “หมอดูร่างทรง” “พลังอำนาจลี้ลับ” ฯ และสังคมไทยนั้น มักปลูกฝังหรืออบรมเลี้ยงดูเด็กและสตรีแบบให้สมยอม 

คือ ต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่ ระมัดระวังมารยาท ต้องควบคุมตนเองตลอดเวลา การแสดงออกหรือแสดงความคิดเห็นสามารถทำได้ยาก ฯลฯ ซึ่งสภาวะเหล่านี้ก่อให้เกิดความยากลำบากในการปรับตัวและพัฒนาไปเป็นความเครียดได้


2. สภาพแวดล้อมรอบตัว


  คือ สถานที่ที่ผู้ป่วยคุ้นเคยหรืออาศัยอยู่เป็นประจำ (เช่น บ้าน หอพัก โรงเรียน) และ บุคคลรอบข้าง (พ่อ แม่ พี่น้อง เพื่อนสนิท) มีความคิดความเชื่อลักษณะเดียวกัน ก่อให้เกิดพฤติกรรมคล้อยตามกันไป และเสมือนหนึ่งว่าเป็นปัจจัยสนับสนุนและส่งเสริมให้ความคิดความเชื่อที่มีอยู่นั้นเป็นเรื่องที่มีอยู่จริงและเป็นความเชื่อที่ถูกต้อง 


3. ตัวผู้ป่วยเอง 



 โดยทั่วไป มักเป็นคนที่มีบุคลิกภาพไม่ค่อยมั่นคงเท่าใดนัก เปราะบาง อ่อนไหวง่าย อดทนต่อแรงกดดันหรือความขัดแย้งได้น้อย เกิดความคับข้องใจได้ง่าย ถูกชักจูงและอารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย ชอบเรียกร้องความสนใจจากผู้อื่น มีความยากลำบากในการปรับตัว

ฉะนั้นแล้ว ถ้าจะอธิบายให้สามารถเข้าใจได้ง่ายๆ ผู้เขียนขอยกตัวอย่างกรณีศึกษาอาการของผู้ป่วยรายหนึ่ง ผู้ป่วยรายนี้ตกอยู่ในความขัดแย้ง คับข้องใจ ถูกกดดันจากผู้บริหารหรือจากสภาพแวดล้อมที่รู้สึกอึดอัดไม่สบายในสภาพเรื้อรัง หาทางออกไม่ได้หรือไม่อาจโต้แย้งหรือไม่กล้าเผชิญหน้ากับปัญหาได้โดยตรง เกรงกลัวว่าหากตอบโต้ไปแล้วตนจะไม่เป็นที่ยอมรับ ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกโดดเดี่ยว ไร้อำนาจและพยายามปลดเปลื้องความเครียดเหล่านี้โดยใช้กลไกทางจิต 

เช่น “สู้” โดยการปรับเปลี่ยนบุคลิกเดิมไปสู่บุคลิกอื่นที่สามารถแสดงพฤติกรรมแล้วสังคมยอมรับได้ นั่นคือเป็นบุคลิกของอำนาจลี้ลับ (ผี -เจ้าพ่อ - เจ้าแม่) และเมื่อผู้ป่วยอยู่ในบุคลิกเจ้าพ่อ ผู้ป่วยสามารถตำหนิ หรือดุด่า ผู้บังคับบัญชาได้เพราะวัฒนธรรมและค่านิยมของชุมชนที่ให้ความเคารพยำเกรงต่อเรื่องผีและไสยศาสตร์อยู่แล้ว การแสดงออกแบบนี้ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกได้ว่าความเครียด ความกดดันที่มีอยู่ถูกผ่อนคลายออกไปได้บ้าง 

ผู้เขียนหวังว่าตัวอย่างนี้เป็นตัวอย่างที่ไม่ซับซ้อนและสามารถอธิบายกลไกการเกิดโรคได้โดยที่ผู้อ่านไม่สับสน อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเชื่อว่าความคิดความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ เป็นเรื่องยากที่จะพิสูจน์ได้ และคงไม่มีข้อเท็จจริงใดๆ ที่สามารถนำมาลบล้างความเชื่อเหล่านี้ออกไปจากจิตใจของบุคคลที่มีความคิดความเชื่อกึ่งแนวนี้ ออกไปได้โดยสิ้นเชิง 

ที่มา : ศิรินทิพย์ ผอมน้อย นักจิตวิทยา ศูนย์สุขภาพจิตจังหวัดตรัง

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้