ตำนานพระธาตุดอยตุง



พระธาตุดอยตุง, เชียงราย, สถานที่ท่อง.



ตำนานพระธาตุดอยตุง

       กล่าวว่า พระมหากัสสปเถระ[1] ได้นำเอาพระบรมอัฐิธาตุ[2] ๕๐๐ องค์ กับพระรากขวัญเบื้องซ้าย หรือกระดูกด้ามมีดเบื้องซ้ายมาถวายให้พญาอชุตตราชกษัตริย์ผู้ครองเมืองโยนกเชียงแสน ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าสิงหนวัติ พญาอชุตตราชพร้อมทั้งพระมหากัสสปเถระจึงอัญเชิญพระธาตุขึ้นบรรจุบนดอยตุงในบริเวณที่เชื่อว่าครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาประทับนั่งบนก้อนหินก้อนหนึ่งที่มีลักษณะ คล้ายมะนาวผ่าครึ่ง บริเวณดอยตุงดังกล่าวนี้เป็นที่อยู่ของชนเผ่ามิลักขุหรือลัวะ มีหัวหน้าชื่อปู่ลาวจก เมื่อพญาอชุตตราช ได้บรรจุพระธาตุบนดอยตุงแล้วได้พระราชทานทองคำให้แก่ปู่ลาวจก เพื่อแลกเป็นค่าที่ดินกว้าง โดยรอบพระธาตุออกไปด้านละ ๓,๐๐๐ วา สำหรับถวายเป็นคามเขตแด่องค์พระธาตุ พร้อมทั้งถวายมิลักขุ ๕๐๐ ครอบครัว ให้เป็นข้าพระธาตุดูแลรักษาพระบรมธาตุด้วย ส่วนพระมหากัสสปเถระได้อธิษฐานตุงทิพย์ยาว ๗,๐๐๐ วา ประดิษฐานไว้ ณ ที่แห่งนี้ ซึ่งต่อมาได้เรียกว่าชื่อดอยตุงตามตุงทิพย์ดังกล่าว 

ภาพวาดพระมหากัสสปะ ตามคติมหายานฝ่ายจีนนิกาย

      ต่อมาอีกช่วงเวลาหนึ่ง ได้มีฤาษีสุรเทวะได้นำพระบรมอัฐิธาตุ ๑๕๐ องค์ มาถวายพญามังรายกษัตริย์ในรัชกาลที่ ๔ แห่งราชวงศ์สิงหนวัติ ผู้ครองเมืองโยนกเชียงแสนและพญามังรายได้ประดิษฐานพระบรม สารีริกธาตุนั้นบนดอยตุงในบริเวณก้อนหินลักษณะรูปมะนาวผ่าครึ่งนั้นอีกครั้ง พร้อมทั้งถวายที่ดินและเหล่ามิลักขุ ๕๐๐ ครอบครัว แด่พระธาตุเช่นครั้งแรกจากการประดิษฐานพระบรมอัฐิธาตุสองครั้งดังกล่าว จึงทำให้บนดอยตุงมีพระธาตุเจดีย์ตั้งอยู่สององค์เคียงคู่กันมา จนทุกวันนี้

พระราชานุสาวรีย์พญามังราย ที่ ห้าแยกพ่อขุน อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย ฝีมือปั้นของ ปกรณ์ เล็กฮอน ด้านหลังคือตุงทองสามผืน ฝีมือของ ถวัลย์ ดัชนี , เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ และ กนก วิศวะกุล ตามลำดับ


   หลังจากนั้นในตำนานได้กล่าวถึงการสืบทอดกษัตริย์ที่มาจากวงศ์ลวะจักกะหรือปู่เจ้าลาวจก มาจนถึงกษัตริย์ ล้านนาในราชวงศ์มังราย ที่ได้ทำนุบำรุงพระธาตุดอยตุง มีการกล่าวอ้างถึงพระนามพญามังราย พญาชัยสงคราม พญาแสนภู พญาคำฟู พญาผายู พญาเจ็ดพันตู พญามหาพรหม พญาแสนเมืองมา และพญากือนา ที่ตำนานระบุว่าได้ถวายที่ดินและมิลักขุ ๕๐๐ ครอบครัว พร้อมสาปแช่งผู้ที่จะมาล้มล้างการกระทำของพระองค์ จากนั้นกล่าวถึงพญาติโลกหรือพระเจ้าติโลกราช ได้ทรงถวายที่ดินและข้าคนไว้บำรุงพระธาตุเช่นเดิม โดยทรงมีพระราชโองการเป็นตราหลาบเงิน หรือการจารพระราชโองการบนแผ่นเงินไว้รวมทั้งได้ทรงโปรดให้ตั้งตำนานหรือเขียนตำนานของพระธาตุดอยตุงไว้ด้วย
ในที่สุด พ.ศ. ๒๑๒๒ เมื่อดินแดนล้านนาอยู่ภายใต้การยึดครองของพม่าแล้ว ลูกเจ้าฟ้ามังทราจาก เมืองหงสาวดีมาปกครองล้านนา ได้จารึกตราหลาบเงินอีกฉบับหนึ่ง เพื่อถวายทานมิลักขุและที่ดินตาม ประเพณีที่พระมหากษัตริย์ล้านนาได้ปฏิบัติในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา


แนวคิด
.......................จากเรื่องราวที่เกี่ยวข้องในตำนานทำให้เกิดความเชื่อว่าพระธาตุดอยตุงนั้นเป็นปฐมอารามแห่งแรกของพระพุทธศาสนา ที่ได้เข้ามาตั้งมั่นอยู่ในแคว้นโยนกนาคพันธ์ จึงทำให้บรรดาพระมหากษัตริย์ขัตติยะ วงศาที่ได้ปกครองล้านนาสืบเชื้อสายกันต่อๆ มา ได้ทำนุบำรุงมิได้ขาด

 __________________________

[1] พระมหากัสสปเถระ  เป็นพระสาวกองค์หนึ่งของพระโคตมพุทธเจ้า เป็นพระที่รวบรวมพระธรรมหลักคำสอนเพื่อบันทึกไว้เป็นหมวดหมู่ เรียกว่าการสังคายนาพระไตรปิฎกเป็นครั้งแรก เป็นพระสาวกที่ยกย่อง และถือเป็นแบบอย่างในพุทธศาสนา ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในด้าน ผู้มีธุดงค์มาก
[2] พระบรมอัฐิธาตุ  พระบรมธาตุ หรือ พระบรมสารีริกธาตุนั้นแท้ที่จริงก็ คือ พระบรมอัฐิหรือกระดูกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นเอง

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้