ตำนาน ท้าวสุรนารี



อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี




ท้าวสุรนารี 

เดิมชื่อ โม หรือโม้ ท่านเป็นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ของจังหวัดนครราชสีมา ในฐานะผู้กอบกู้ เมืองนครราชสีมา จากกองทัพของเจ้าอนุวงศ์[1]  แห่งเวียงจันทน์ เมื่อ พุทธศักราช ๒๓๖๙ 

คุณหญิงโม เกิดเมื่อพุทธศักราช ๒๓๑๕ ปีเถาะ ในสมัยพระเจ้าตากสิน[2]  กรุงธนบุรี บิดามารดา ชื่อนายกิ่ม นางบุญมา เมื่ออายุ ๒๕ ปี ได้เข้าพิธีสมรสกับเจ้าพระยามหิศราธิบดี (ทองคำ) ที่ปรึกษาราชการเมืองนครราชสีมา ครั้งยัง ดำรงฐานันดรศักดิ์[3] เป็นพระยาสุริยเดชวิเศษฤทธิ์ทศทิศวิชัย ปลัดเมืองนครราชสีมา มีบ้านอยู่ตรงกันข้ามกับ วัดพระนารายณ์ (วัดกลางนคร) ทางทิศใต้ ท่านไม่มีบุตรสืบตระกูล ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อเดือน ๕ ปีชวด พุทธศักราช ๒๓๙๕ รวมอายุได้ ๘๑ ปี


วีรกรรมของคุณหญิงโมนั้นเป็นที่คนไทยรุ่นหลังทราบดีว่า ท่านได้เป็นหัวหน้ารวบรวมครอบครัวชายหญิง ชาวนครราชสีมา เข้าต่อสู้ทหารลาว ณ ทุ่งสำริด แขวงเมืองนครราชสีมา เมื่อวันที่ ๔ มีนาคม พุทธศักราช ๒๓๖๙ ที่ช่วยให้ฝ่ายไทยสามารถกอบกู้เมืองนครราชสีมากลับคืนมาได้ในที่สุด


วีรกรรม
...................วีรกรรมของท่านเกิดจากการรวบรวมครอบครัวชายหญิงชาวนครราชสีมา ที่ถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลย เข้าต่อสู้ทหารลาว ณ ทุ่งสำริด แขวงเมืองนครราชสีมา เมื่อวันที่ ๔ มีนาคม พุทธศักราช ๒๓๖๙ ช่วยให้ฝ่ายไทย สามารถกอบกู้เมืองนครราชสีมา กลับคืนมาได้

 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณา โปรดเกล้า ฯ สถาปนา[4] ขึ้นเป็นท้าวสุรนารี อนุสาวรีย์ของท่านประดิษฐานอยู่ที่หน้าประตูชุมพล ตั้งแต่วันที่ ๕ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๗๗ และได้บูรณะใหม่ให้งามสง่ายิ่งขึ้นเมื่อ ๒๙ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๑๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตรัสถึงวีรกรรมของท่านท้าวสุรนารีไว้ว่า

"...ท้าวสุรนารี เป็นผู้ที่เสียสละ เพื่อให้ประเทศชาติได้อยู่รอดปลอดภัย ควรที่อนุชนรุ่นหลังจะได้ระลึก ถึงคุณงามความดีของท่าน บ้านเมืองทุกวันนี้เป็นสิ่งที่ต้องหวงแหน การหวงแหน คือ ต้องสามัคคี รู้จักหน้าที่ ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน ชาวนครราชสีมาได้แสดงพลัง ต้องการความเรียบร้อย ความสงบ เป็นปัจจัยสำคัญ ทำให้ ชาติกลับปลอดภัยอีกครั้งหนึ่ง แม้ว่าสถานการณ์รอบตัวเราและรอบโลก จะผันผวนและล่อแหลมมาก แต่ถ้า ทุกคนเข้มแข็ง สามัคคี กล้าหาญ และเอื้อเฟื้อต่อกัน ชาติก็จะมั่นคง..."

พิธีเปิดอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีบนฐานอนุสาวรีย์ใหม่ปี พ.ศ. 2510

___________________________

[1] สมเด็จพระเจ้าอนุวงศ์ (ลาว: ສົມເດັຈພຣະເຈົ້າ​ອານຸວົງສ໌) กษัตริย์แห่งราชอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์พระองค์ที่ 5 และเป็นกษัตริย์พระองค์สุดท้าย นักประวัติศาสตร์ลาวขนานนามพระองค์อีกอย่างหนึ่งว่า พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 3 แต่นักประวัติศาสตร์บางท่านตรวจสอบพระนามจากจารึกต่างๆ แล้วได้นับพระองค์เป็นพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 5 เนื่องจากพระเจ้าสิริบุญสาร ผู้เป็นพระราชบิดา และเจ้าอินทวงศ์ผู้เป็นพระเชษฐาธิราชได้ออกพระนามของพระองค์ว่า พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ด้วยเช่นกัน จึงนับเป็นพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 3 และที่ 4 ตามลำดับ

[2] พระเจ้าตากสิน สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรือ สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 (จีน: 鄭昭; พินอิน: Zhèng Zhāo; แต้จิ๋ว: Dênchao) มีพระนามเดิมว่า สิน (ชื่อจีนเรียกว่า เซิ้นเซิ้นซิน)[6] พระราชบิดาเป็นจีนแต้จิ๋ว ได้สมรสกับหญิงไทยชื่อ นกเอี้ยง ภายหลังเป็นกรมสมเด็จพระเทพามาตย์ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวในสมัยอาณาจักรธนบุรี ทรงปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา[7] เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2310 เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 เมื่อมีพระชนมายุได้ 48 พรรษา รวมสิริดำรงราชสมบัติ 15 ปี พระราชโอรส-พระราชธิดา รวมทั้งสิ้น 30 พระองค์[5]
พระราชกรณียกิจที่สำคัญในรัชสมัยของพระองค์ คือ การกอบกู้เอกราชจากพม่าภายหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง โดยขับไล่ทหารพม่าออกจากราชอาณาจักรจนหมดสิ้น และยังทรงทำสงครามตลอดรัชสมัยเพื่อรวบรวมแผ่นดินซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของขุนศึกก๊กต่าง ๆ ให้เป็นปึกแผ่น เช่นเดียวกับขยายพระราชอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงมุ่งมั่นที่จะฟื้นฟูประเทศในด้านต่าง ๆ ให้กลับคืนสู่สภาวะปกติหลังสงคราม ทรงส่งเสริมทางด้านเศรษฐกิจ ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม วรรณกรรม และการศึกษา เนื่องจากพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อแผ่นดินไทย รัฐบาลจึงได้ประกาศให้วันที่ 28 ธันวาคมของทุกปีเป็น "วันสมเด็จพระเจ้าตากสิน" และยังทรงได้รับสมัญญานามมหาราช

[3] ฐานันดรศักดิ์ คือ ระดับชั้นหรือยศของพระบรมวงศานุวงศ์ไทยในสมัยโบราณ เทียบกับคำภาษาอังกฤษคือ Royal Title
สำหรับบรรดาศักดิ์ของพระบรมวงศานุวงศ์ไทยซึ่งทรงทำงานในกรม ดูได้ที่ เจ้าต่างกรม
สำหรับบรรดาศักดิ์ของขุนนางไทย ดูได้ที่ บรรดาศักดิ์ไทย
สำหรับจำนวนศักดินาของคนสยาม ดูได้ที่ พระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน นายทหารหัวเมือง

[4] สถาปนา [สะถาปะนา] ก. ยกย่องโดยแต่งตั้งให้สูงขึ้นเช่นเลื่อนเจ้านายให้สูงศักดิ์ขึ้น หรือยกวัดราษฎร์ขึ้นเป็นพระอารามหลวง, ตั้งขึ้น (มักใช้แก่หน่วยราชการหรือองค์การที่สําคัญ ๆ ในระดับกระทรวง ทบวงมหาวิทยาลัย) เช่น วันสถาปนากระทรวงมหาดไทย วันสถาปนาราชบัณฑิตยสถาน วันสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (ส. สฺถาปน; ป. ?าปน).

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้