พระนางสามผิว


ศาลเจ้าเมืองฝาง. พระเจ้าฝางและพระนางสามผิว




พระนางสามผิว

     ตำนานได้กล่าวถึงพระนางสามผิวว่า เมื่อปี พ.ศ. ๒๑๕๕-๒๑๗๕ พระเจ้าอุดมสิน เจ้าเมืองฝางจังหวัด เชียงใหม่ปัจจุบัน มีพระมเหสีองค์หนึ่งทรงพระสิริโฉมงดงามมาก ในวันหนึ่ง ๆ สีผิวของพระนางจะเปลี่ยนไป ถึง ๓ สี คือ เวลาเช้าผิวพรรณของพระนางจะขาวบริสุทธิ์ผุดผ่อง เวลาเที่ยงสีผิวของพระนางจะเปลี่ยนเป็นสี ชมพูอ่อน เวลาเย็นสีผิวของพระนางจะเปลี่ยนเป็นสีแดงระเรื่อเป็นที่น่าชวนพิสมัยอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้พระนางจึงได้พระนามพิเศษว่า พระนางสามผิว

    จากผิวที่งดงามผุดผ่องของพระมเหสี[1] เจ้าเมืองฝางนี้เอง ทำให้เป็นข่าวเล่าลือแพร่ออกไปว่าพระเจ้าฝาง มีมเหสีที่สวยงามยิ่งนัก ยากที่จะหาหญิงใดเทียมได้ ข่าวนี้ล่วงรู้ถึงหูของพระเจ้าสุทโธธรรมราชากษัตริย์พม่า พระองค์จึงอยากจะมาทอดพระเนตรให้เห็นความจริง จึงได้ทรงปลอมแปลงกายเป็นพ่อค้าต่างแดนนำสินค้ามาจากเมืองตะโก้ง (ย่างกุ้ง)[2] เข้ามาขายยังเมืองฝางและได้เข้าทูลถวายผ้าเนื้อดีแก่ขัตติยะนารีฝาง เพียงเพื่อ จะได้ยลโฉมพระนางสามผิวว่า จะสวยงามดังคำเล่าลือหรือไม่ ครั้นกษัตริย์เมืองพม่าได้เห็นพระพักตร์พระ นางเท่านั้น 

    เมื่อเสด็จกลับยังที่ประทับพระองค์ทรงคร่ำครวญถึงแต่พระนาง ครั้นจะมาสู่ขอพระนางก็มีพระสวามีแล้ว จึงคิดหาวิธีที่จะช่วงชิงเอาพระนางมาให้ได้ และวิธีที่จะได้พระนางมาก็คือ ต้องทำศึกชิงนาง คิดได้ ดังนี้พระเจ้าสุทโธธรรมราชากษัตริย์พม่าจึงเสด็จกลับกรุงอังวะ เพื่อตระเตรียมรี้พล กษัตริย์พม่านำกองทัพมา ทำสงครามกับพระเจ้าฝางเป็นเวลาถึงสามปี จนในที่สุดกองทัพพม่าปิดล้อมเมืองฝางไว้ไม่ให้ชาวบ้านเมืองได้ออกไปทำมาหากิน 

  ชาวเมืองฝางตกอยู่ในวงล้อมของพม่า มีความอดอยากยากแค้นเสบียงอาหารที่มีอยู่ก็หมด เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น ทั้งเจ้าเมืองฝางกับพระนางสามผิวทรงตระหนักดีว่า สาเหตุมาจากทั้งสอง พระองค์ และเพื่อเห็นแก่ชีวิตไพร่ฟ้าของแผ่นดินและเพื่อยุติปัญหา ทั้งสองพระองค์จึงตัดสินพระทัยแก้ปัญหา ด้วยการชวนกันไปกระโดดลง บ่อน้ำชาววา ซึ่งบ่อน้ำนี้มีความลึก ๒๐ วา ปลงพระชนม์เพื่อรักษาชีวิตชาวเมืองไว้ เมื่อพระเจ้าสุทโธธรรมราชายกทัพเข้าเมืองฝางได้และทราบว่าทั้งเจ้าเมืองฝางกับพระนางสามผิว กระโดดลงบ่อน้ำสิ้นพระชนม์แล้ว กษัตริย์พม่ามีความเสียพระทัยเป็นอย่างยิ่ง จึงได้ยกทัพกลับพม่า

ภาพถ่ายบริเวณที่เขาเชื่อว่าเป็นบ่อน้ำซาววา

  เมื่อศึกสงครามสงบลงแล้ว ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินเห็นว่า เจ้าเมืองและพระมเหสีทรงสละพระชนม์ชีพเพื่อ รักษาเมืองฝางและชีวิตของชาวเมืองไว้ จึงได้สร้างอนุสาวรีย์ทั้งสองพระองค์ไว้ที่บ่อน้ำชาววา ซึ่งอยู่หน้าวัด พระบาทอุดมพากันกราบไหว้ ถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ปกบ้านคุ้มเมืองให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุขตราบจนทุกวันนี้

ปรัชญา

      ความงดงามภายในคือจิต เป็นความงดงามที่จีรังยั่งยืนกว่าความงามภายนอกคือ ร่างกาย

_______________________________________

[1] มเหสี (ตำแหน่งฝ่ายใน) คือ นางเมือง, กล่าวคือ ชายาพระเจ้าแผ่นดิน
[2] ย่างกุ้ง (ภาษาพม่า: อ่านออกเสียงว่า ดะโกง แปลว่า ปราบศัตรูราบคาบ, ภาษาอังกฤษเรียกว่า Rangoon) เป็นอดีตเมืองหลวงและเมืองที่ใหญ่ที่สุดใน ประเทศเมียนมาร์ (หรือพม่า) ตั้งอยู่บนปากแม่น้ำย่างกุ้ง ห่างจากอ่าวเมาะตะมะ (Gulf of Martaban) ประมาณ 30 กม. ย่างกุ้งเดิมเป็นเพียงหมู่บ้านชาวประมงเล็ก ๆ เท่านั้น ได้รับการบูรณะให้เป็นเมืองสำคัญและสถาปนาชื่อโดยพระเจ้าอลองพญาแห่งราชวงศ์อลองพญา ปัจจุบันมีประชากร 4,504,000 (พ.ศ. 2543), และตั้งอยู่ที่ 16°48' เหนือ, 96°9' ตะวันออก (16.8, 96.15) เมื่อเทียบกับเมืองใหญ่เมืองอื่น ๆ ในเอเซียอาคเนย์แล้ว ย่างกุ้งค่อนข้างจะด้อยพัฒนา จึงมีพื้นที่สีเขียวมากกว่า มีการก่อสร้างเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีการลงทุนจากต่างชาติเข้ามา (จากประเทศสิงคโปร์ และประเทศจีน) ตึกที่อยู่อาศัยหลายชั้น (ไต tai) หลายแห่งได้ถูกสร้างใหม่หรือปรับปรุงใหม่ อย่างไรก็ดี การปรับเมืองเข้าสู่ปัจจุบันจะเห็นชัดเจนเฉพาะในบริเวณกลางเมืองและชเวดากอง (Shwedagon) แถบชานเมืองตอนใต้ เช่น Thaketa Township ยังคงยากจนต่อไป ย่างกุ้งได้พยายามที่จะเก็บรักษาสถาปัตยกรรมยุคอาณานิคมที่ยังมีอยู่ ย่างกุ้งได้ถูกออกแบบใหม่เป็นตารางหมากรุก เมื่ออังกฤษได้ผนวกพม่าเข้าสู่อาณาจักรของตนเองในคริสต์ศตวรรษที่ 19

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้