ตำนาน วัดพระนางสร้าง


วัดพระนางสร้างเป็นวัดประจำอำเภอถลางที่เก่าแก่ที่สุดวัดหนึ่





วัดพระนางสร้างเป็นวัดเก่าแก่มีมานานแล้ว เชื่อกันว่าสร้างก่อนพม่าเข้าทำศึกเมืองถลาง พ.ศ. ๒๓๒๘ มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า พระนางเลือดขาว[1] เป็นผู้สร้างวัด พระนางเลือดขาวเป็นผู้ศรัทธาในพระพุทธศาสนามาก เป็นมเหสีของเจ้าผู้ครองนคร แต่ถูกคนใกล้ชิดกลั่นแกล้งว่ามีชู้ จึงต้องโทษประหารชีวิต แต่ พระนางเลือดขาวขอไปนมัสการพระบรมธาตุที่ลังกาก่อน คณะของนางเลือดขาวลงเรือไปถึงลังกา

พระนางมัสสุหรี (พระนางเลือดขาว)

 เมื่อกลับมา ได้นำพระพุทธรูปและโบราณวัตถุหลายอย่างมาด้วย ตอนเดินทางกลับพระนางเลือดขาวได้แวะพักที่ เกาะถลาง แล้วสร้างวัดไว้เป็นที่ระลึก ปลูกต้นประดู่และต้นตะเคียน พร้อมทั้งนำของมีค่าทางพุทธศาสนาเช่น พระพุทธรูปฝังไว้ในเจดีย์ด้วย 

ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า วัดพระนางสร้าง เมื่อสร้างวัดเสร็จแล้วจึงออกเดินทางกลับไปยังเมืองตน วัดพระนางสร้างจึงมีโบราณวัตถุจำนวนมาก คนสมัยก่อนได้ผูกปริศนาเพื่อบอกที่ฝังเก็บ รักษาทรัพย์สมบัติ ปริศนา ลายแทง ของวัดพระนางสร้าง กล่าวไว้ดังนี้ 

อาถรรพถ์ฤาพบได้ ฤาต้องปี ฤาต้องฤาบอกฤาเล่ามิได้ ฤานำฤารู้ ฤาอุบฤาได้ ฤาบุญฤาตัวเปิด ฤานำ ฤาบอก ฤาได้ ฤาบาปแล พิกุลสอง สารภีดี สมอแดง จำปา จำปี ตะแคง มะขามหนึ่ง กระท้อนหน้า ราชารอบ ขอบของระฆังดัง เจดีย์มีศาลารอบ ด้วยเข็มหนึ่งไม้เลือดหลังสุด ลูกมุดลูกม่วง ชมพู่ดูโบสถ์ ฤาเปิดได้ดั่งลายแทงแลฯ

เส้นแสงลายแทงหนึ่ง นางสร้าง ฤาเปิด ฤาดู ฤาชม ฤากราบไหว้บูชา ฤาได้ บุญกุศลแล ฤาดี ได้ เจ้าเมืองเปิดแลฯ ฤาของแท้แน่ไซร้ ฤาได้หญิงลือหญิงแลฯ 

เส้นแสงลายแทงสอง พระสร้าง ฤาใจ ฤางาม ฤาตามเจ้าเมืองฤาพระนางเดื่องฤาด้วย ฤาใจ ฤางาม ฤาใจเจ้าเมือง ฤาใจหญิงฤาหญิงแลฯ

เส้นแสงลายแทงสาม ฤาอย่าข้ามใจฤา เจ้าเมืองฤา ฤาพิษฐาน ฤารูปงาม ฤาใจงาม ฤาทรัพย์สิน ฤา ลาภฤายศ ฤาขอได้ลูกหลานหลิน ฤาขอได้ดั่งประสงค์ฤา ฤาถือ ได้ปฏิบัติแน่ไซร้ ฤาธิษฐานได้ ฤาดั่งลายแทง แลฯ 

โบสถ์เก่า วัดพระนางสร้าง


รอบอุโบสถวัดพระนางสร้างมีต้นไม้ตามลายแทงกล่าวไว้ จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า แหล่งกรุสมบัตินี้อยู่ที่ อุโบสถ เมื่อมีการเปิดกรุพระในอุโบสถ[2] จึงพบพระพุทธรูปดีบุก


ความสำคัญต่อชุมชน
วัดพระนางสร้างเป็นวัดสำคัญในการประกอบพิธีกรรม ทางพระพุทธศาสนาของพุทธศาสนิกชนในเมืองภูเก็ต และยังเป็นวัดที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ เมื่อครั้งศึกถลาง พ.ศ. ๒๓๒๘ ท้าวเทพกระษัตรีได้ใช้ วัดพระนางสร้างเป็นสถานที่ ตั้งค่ายระดมพลเข้าต่อสู้กับพม่า จนสามารถขับไล่พม่าออกไป รักษาเมืองถลางไว้ได้


ลักษณะของสถาปัตยกรรม
วัดพระนางสร้างมีสิ่งก่อสร้างมากมายดังนี้

๑. พระอุโบสถ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ประตูใหญ่อยู่ด้านหน้า ประตูเล็กมี ๒ ช่องอยู่ทางทิศเหนือ และทิศใต้ อุโบสถนี้ไม่มีประตูหลัง มีบานหน้าต่าง ๔ ช่อง ภายในมีเสาไม้ตำเสาที่สูงตรง ๔ เสา ด้านในช่อง หลังก่ออิฐยกสูงขึ้นประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นสกุลถลาง ปางมารวิชัย ด้านหลังสุดเป็นพระพุทธไสยาสน์ 
ด้านนอกรายรอบด้วยพัทธสีมาก่อด้วยอิฐถือปูนจำนวน ๘ องค์ รูปองค์คล้ายสถูปเล็กแต่ละองค์มีส่วนราย ละเอียดแตกต่างกัน พัทธสีมาที่ใหญ่ที่สุดอยู่ตรงประตูทางเข้าอุโบสถ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ มีการบูรณะอุโบสถ ขึ้นใหม่ใช้สถาปัตยกรรมในรูปแบบเดิม

๒. พระพุทธสามกษัตริย์ เป็นพระพุทธรูปดีบุก เนื่องจากเมืองถลางและภูเก็ตเป็นแหล่งแร่ดีบุกที่อุดม สมบูรณ์ จึงนิยมสร้างพระพุทธรูปด้วยดีบุก ในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ ได้เปิดกรุพระในอุโบสถวัดพระนางสร้าง พบ พระพุทธรูปดีบุก บรรจุอยู่ในพระอุทรของพระพุทธรูปทั้งเบื้องซ้ายและเบื้องขวาของพระประธาน ทั้ง ๒ องค์ พระพักตร์กว้าง ๒๗ เซนติเมตร ยาวจากบนสุดของพระเศียรถึงพระอังสา ๔๐ เซนติเมตร สันพระนาสิกสูง จากริมพระโอษฐ์ ๑.๕ เซนติเมตร พระพุทธรูปดีบุกนี้เรียกชื่อว่า พระพุทธสามกษัตริย์ แต่ชาวบ้านทั่วไปพากัน เรียกว่า "พระในพุง" พระพุทธสามกษัตริย์จัดเป็นพระพุทธรูปที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในภูเก็ต และเป็นพระพุทธรูปดีบุกที่ใหญ่ที่สุด

๓. เจดีย์ทรงระฆังคว่ำ สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นที่บรรจุอัฐิของเจ้าอาวาสองค์ก่อน ในสมัยหลวงพ่อปอดเป็นเจ้าอาวาสได้สร้างเจดีย์นี้ขึ้น

๔. หอระฆัง ด้านทิศใต้มีหอระฆังก่ออิฐถือปูนสูงประมาณ ๘ เมตร มีบันไดอยู่ทางทิศตะวันตกเป็น หอระฆังมีรูปแบบที่ได้นำมาจากลังกา หอระฆังนี้สูงมีบันไดขึ้นหันไปทางทิศตะวันตก หลังคามีลักษณะคล้ายสถาปัตยกรรม แบบจีนผสมแบบไทย ระฆังเป็นทองเหลือง

๕. ซุ้มประตูกาญจนาภิเษก ซึ่งเป็นซุ้มประตูสร้างใหม่ และด้านทิศตะวันตกของซุ้มประตูมีรูปปั้นเจ้าแม่กวนอิมยืนรอบล้อมด้วยมังกร ด้านล่างจะมีองค์เซียนของจีน จำนวน ๘ องค์

๖. อุโบสถที่มีการปลูกสร้างขึ้นใหม่เป็นสถาปัตยกรรมยุครัตนโกสินทร์ ภายในอุโบสถมีพระประธานปางมารวิชัย ฝาผนังอุโบสถมีจิตกรรมฝาผนังที่ แสดงประวัติของบุคคลสำคัญและประวัติเมืองถลาง มีความงดงามเป็นอย่างยิ่ง


เส้นทางเข้าสู่วัดพระนางสร้าง

วัดพระนางสร้างอยู่บนถนนศรีสุนทร ระหว่างกิโลเมตรที่ ๑๘-๑๙ มาจากถลางจะเห็นวัดอยู่ทางขวามือ 

_____________________________________________

[1] พระนางมัสสูหรี เป็นหญิงสาวชาวบ้านที่สวยมาก และได้สมรสกับ อนุชาองค์สุลต่าน แห่งรัฐเคดาร์ ต่อมาได้เกิดสงครามที่รัฐปัตตานี มีเหตุให้พระอนุชาขององค์สุลต่าน ซึ่งเป็นพระสวามี ต้องเดินทางออกรบ ผู้ที่ปองร้ายและอิจฉาริษยานาง ต่างหาเรื่องสร้างสถานการณ์ว่า เล่าเรื่องให้องค์สูลต่านหลังกลับจากศึกสงครามว่า พระนางมัสสุหรีมีชู้ ทำให้องค์สุลต่านตัดสินประหารชีวิตพระนางด้วยกริช ก่อนเสียชีวิตพระนางอธิษฐานว่า หากนางไม่มีความผิด ขอให้โลหิตที่หลั่งออกมา เป็นสีขาวเพื่อพิสูจน์ ความบริสุทธิ์ของนาง และขอให้เกาะลังกาวี ไร้ความเจริญไป 7 ชั่วคน แต่คมกริชประหาร กลับไม่ระคายผิวนางเลย พระนางมัสซูรี จึงบอกกับเพชฌฆาต ให้กลับไปนำกริชพิเศษ ของต้นตระกูล จากบ้านของนางมา ขณะที่คมกริชจดลงไปบนคอ โลหิตสีขาว ก็พวยพุ่งขึ้นข้างบน แสดงให้เห็นถึง ความบริสุทธิ์ของนางแลและร่ายคำสาปให้เกาะลังกาวีตกอยู่ในความทุกข์เข็ญมานานถึง 7 ชั่วคน อันเป็นที่มาของ ตำนานพระนางเลือดขาว

[2] อุโบสถ (อ่านว่า อุ-โบ-สด) ถือเป็นอาคารที่สำคัญภายในวัดเนื่องจากเป็นสถานที่ที่พระภิกษุสงฆ์ใช้ทำ สังฆกรรมซึ่งแต่เดิมในการทำสังฆกรรมของ พระภิกษุสงฆ์จะ ใช้เพียงพื้นที่โล่ง ๆ ที่กำหนดขอบเขตพื้นที่สังฆกรรมโดยการกำหนดตำแหน่ง“สีมา” เท่านั้น แต่ในปัจจุบันจากการมีผู้บวชมากขึ้น อีกทั้งภายใน พระอุโบสถมักประดิษฐานพระประธานที่เป็นพระพุทธรูปองค์สำคัญ ๆ ทำให้มีผู้มาสักการะบูชาและร่วมทำบุญเป็นจำนวนมาก พระอุโบสถจึงถูกสร้าง ขึ้นเป็นอาคารถาวรและมักมี การประดับตกแต่งอย่างสวยงาม

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้