ขุนหลวงวิรังคะ



อนุสาวรีย์ พ่อขุนหลวงวิลังคะ เจ้าเมืองระมิงค์นคร



ขุนหลวงวิรังคะ

     ซึ่งเล่ากันว่า ในสมัยที่ พระนางจามเทวี[1] ปกครองเมืองหริภุญไชยราว พ.ศ. ๑๓๐๐ ในสมัยนั้นเล่ากันว่า นครหริภุญไชยเป็นนครของชนชาติมอญ หรือเม็ง และในขณะเดียวกันบริเวณเชิงดอยสุเทพเป็นที่ตั้งบ้าน เมืองของชาวลัวะมี ขุนหลวงวิรังคะ เป็นเจ้าเมืองหรือหัวหน้า ขุนหลวงวิรังคะมีความรักในพระนางจามเทวี มีความประสงค์จะอภิเษกกับพระนาง แต่พระนางไม่ปรารถนาจะสมัครรักใคร่กับขุนหลวงลัวะ เพราะเป็นกลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมต่ำกว่ามอญในสมัยนั้น ขุนหลวงได้ส่งทูตมาเจริญไมตรีขอนางอภิเษกด้วย พระนางก็ผลัดผ่อนหลายครั้ง โดยมีเงื่อนไขต่าง ๆ ได้แก่ 

               ขอให้ขุนหลวงสร้างเจดีย์ที่มีขนาดและลักษณะคล้ายกับเจดีย์พระธาตุหริภุญไชย 

                      ให้ขุนหลวงพุ่งเสน้ามาตกที่ในเมือง พระนางจึงจะอภิเษกสมรสด้วย 

ขุนหลวงวิรังคะพุ่งสะเหน้าสู่เมืองหริ ภุญไชย รูปวาดฝาผนังวัดจามเทวี จ.ลำ พู น

ขุนหลวงวิรังคะ เป็นผู้ทรงพลังและชำนาญในการพุ่งเสน้า (เสน้า หมายถึง หอกด้ามยาวมีสองคม) ขุนหลวงพุ่งเสน้าครั้งแรกตกที่นอกกำแพงเมืองหริภุญไชยด้านตะวันตกเฉียงเหนือปัจจุบันเรียกว่า หนอง   เสน้า พระนางจามเทวีเห็นว่าจะเป็นอันตรายยิ่งถ้าขุนหลวงวิรังคะพุ่งเสน้ามาตกในกำแพงเมืองตามสัญญา พระนางจึงใช้วิชาคุณไสย[2] กับขุนหลวงวิรังคะ โดยการนำ


“พระนางจามเทวี” วีรสตรีปฐมกษัตริย์ผู้ครองนครหริภุญไชย

เอาเศษพระภูษาของพระนางมาทำเป็นหมวกสำหรับผู้ชาย นำเอาใบพลูมาทำหมากสำหรับเคี้ยวโดย    เอาปลายใบพลูมาจิ้มเลือดประจำเดือนของพระนาง 

แล้วให้ทูตนำของสองสิ่งนี้ไปถวายแด่ขุนหลวง ขุนหลวงได้รับของฝากจากพระนางเป็นที่ปลาบปลื้มอย่างยิ่ง นำหมวกใบนั้นมาสวมลงบนศีรษะ และกินหมากที่พระนางทำมาถวาย ซึ่งของทั้งสองสิ่งนี้ชาวล้านนาถือว่าเป็นของต่ำ ทำให้อำนาจและพลังของขุนหลวงเสื่อมลง เมื่อพุ่งเสน้าอีกครั้งต่อมาแรงพุ่งลดลงเสน้ามาตกที่บริเวณเชิง ดอยสุเทพ ชาวบ้านเรียกว่า หนองสะเหน้า เช่นเดียวกัน ขุนหลวงเมื่อเสื่อมวิทยาคุณเช่นนั้น ก็หนีออกจากบ้าน เมืองไป

       ก่อนสิ้นชีวิต ขุนหลวงวิรังคะได้ขอให้เสนาอำมาตย์นำศพของท่านไปฝังไว้ ณ สถานที่ที่ขุนหลวง จะสามารถมองเห็นเมืองหริภุญไชยได้ตลอดเวลา ทหารได้จัดขบวนศพของขุนหลวงจากเชิงดอยสุเทพขึ้นสู่บนดอยสุเทพ เพื่อหาสถานที่ฝังตามคำสั่ง ขบวนแห่ศพได้ลอดใต้เถาไม้เลื้อยชนิดหนึ่งเรียกว่า เครือเขาหลง ซึ่งเชื่อว่าถ้าผู้ใดลอดผ่านจะทำให้พลัดหลงทางกันได้ ขบวนแห่ศพขุนหลวงได้พากันพลัดหลงกระจัดกระจายไป คนละทิศละทาง นักดนตรีบางคนพลัดหลงไปพร้อมกับเครื่องดนตรีของตน 

ต้นเครือเขาหลง เป็น พันธ์ไม้ ที่ขึ้น ตาม พื้นที่ป่า กระจัดกระจาย ตามภาค ต่างๆ ของประเทศไทย
    
 เครือเถาหลง คือ ไม้ชนิดเดียวกันที่อยู่ในป่าลึก มีเทวดารักษา ผู้มีวิชาอาคมถึงไปขอตัดเอามาได้ที่ชื่อ อย่างนี้ก็เพราะว่า ไม้นี้ ถ้าคนหรือสัตว์เผลอไปข้ามเข้าก็จะหลงป่า 


     นิทานเล่าว่าภูเขาที่นักดนตรีผู้นั้น หลงจะปรากฏมีรูปร่างคล้ายเครื่องดนตรีนั้น ๆ บนยอดเขาสุเทพ-ปุย จะมีภูเขาชื่อต่าง ๆ ดังนี้ ดอยฆ้อง ดอยกลอง ดอยฉิ่ง ดอยสว่า บางแห่งเป็นที่แคบและฝาครอบโลงศพปลิวตก บริเวณนั้นเรียกว่า กิ่วแมวปลิว (คำว่า แมว หมายถึง ฝาครอบโลงศพที่ทำด้วยโครงไม้ไผ่ใช้ตกแต่งด้านบนของฝาโลงศพ)

    เสนาอามาตย์ที่หามโลงศพของขุนหลวงได้เดินทางไต่ตีนเขาไปทางทิศเหนือ ถึงบริเวณแห่งหนึ่ง โลง ศพได้คว่ำตกลงจากที่หาม เสนาอามาตย์จึงได้ฝังศพของขุนหลวงไว้ ณ สถานที่บนภูเขาแห่งนี้ ซึ่งจะสามารถมองเห็นเมืองหริภุญไชยได้ตลอดเวลา ยอดภูเขานี้ชาวบ้านเรียกว่า ดอยคว่ำหล้อง (หล้อง หมายถึง โลงศพ)

    ปัจจุบันชาวบ้านยังเรียกชื่อภูเขาลูกนี้ว่า ดอยคว่ำหล้อง ตั้งอยู่บนภูเขาบริเวณเหนือน้ำตกแม่สา อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ยอดเขาเป็นรูปสี่เหลี่ยมตัด ลักษณะคล้ายโลงศพ บนยอดเขามีศาลของขุนหลวงวิรังคะ ตั้งอยู่ ชาวบ้านบริเวณเชิงเขาเล่าว่า กลางคืนเดือนเพ็ญบางครั้งจะได้ยินเสียงดนตรีบรรเลงบนยอดเขา 

ดอยม่อนล่อง หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ม่อนคว่ำล่อง” สามารถมองเห็นทัศนียภาพของเมืองเชียงใหม่บริเวณถนนเส้นแม่ริม – สะเมิง 

         เชื่อกันว่าวิญญาณของขุนหลวงสถิตอยู่บนดอยคว่ำหล้อง บริเวณเชิงเขา มีหมู่บ้านลัวะหมู่บ้านหนึ่งชื่อว่า บ้านเมืองก๊ะ มาจากชื่อของขุนหลวงวิรังคะ เชื่อกันว่าชาวลัวะเหล่านี้เป็นเชื้อสายของขุนหลวงวิรังคะ ที่หมู่บ้านแห่งนี้มีศาลที่สถิตวิญญาณของขุนหลวง และทหาร ซ้ายและขวาของขุนหลวงอีก ๒ ศาล ชาวบ้านจะเซ่นสรวงดวงวิญญาณขุนหลวงและทหารปีละครั้ง 


             ชาวบ้านเล่าว่า ดวงวิญญาณของขุนหลวงจะสถิตอยู่ ๓ แห่งได้แก่ บนดอยคว่ำหล้อง ศาลที่บ้านเมืองก๊ะ อำเภอแม่ริม และอีกแห่งหนึ่งคือ บริเวณดอยคำ อำเภอเมือง ซึ่งตั้งอยู่ทิศใต้ของดอยสุเทพ ปัจจุบันบนยอดดอยมีวัดชื่อว่าวัดพระธาตุดอยคำ บนวัดแห่งนี้มีอนุสาวรีย์ขุนหลวงวิรังคะประดิษฐานที่ลานวัดใกล้เจดีย์ และที่ดอยคำแห่งนี้เป็นที่สถิตดวงวิญญาณของหัวหน้าลัวะซึ่งเป็นบรรพบุรุษของขุนหลวงวิรังคะ ชื่อว่า ปู่แสะ ย่าแสะ[3] ซึ่งจะมีการเลี้ยงผีปู่แสะย่าแสะ ด้วยควายทุกปี หรือ ๓ ปีครั้ง

รูปปั้นปู่แสะ และ ย่าแสะ

คติ / แนวคิด
.........................นิทานเรื่องเกี่ยวกับขุนหลวงวิรังคะ ชนเผ่าลัวะ และพระนางจามเทวี สะท้อนถึงความสัมพันธ์และถิ่นที่ อยู่ของชาวลัวะและเม็ง หรือมอญโบราณ รวมทั้งกลุ่มไทยวน บริเวณที่ราบลุ่มบนฝั่งแม่น้ำปิงซึ่งมีมาตั้งแต่ อดีต เป็นการแสดงถึงความยิ่งใหญ่ของเจ้าเมืองทั้ง ๒ เมือง รวมทั้งเทคนิควิธีในการที่จะเอาชนะกันและกัน

__________________________________

[1] พระนางจามเทวี เป็นสตรีซึ่งปรากฏพระนามในเอกสารต่างๆ ซึ่งระบุว่าทรงเป็นปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรหริภุญชัย อันเป็นอาณาจักรโบราณในภาคเหนือของประเทศไทยปัจจุบัน
ตำนานต่างๆ ที่กล่าวถึงพระองค์ระบุศักราชไว้ไม่ตรงกัน ปรากฏบันทึกและการสอบศักราชโดยบุคคลต่างๆ เช่น
-    หนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ ระบุว่าทรงครองราชย์เมื่อ พ.ศ. 1205 อยู่ในราชสมบัติ 7 ปี
- มานิต วัลลิโภดม สอบค้นว่าประสูติเมื่อ พ.ศ. 1166 ครองราชย์ พ.ศ. 1205 ครองราชย์อยู่ 17 ปี              สิ้นพระชนม์ พ.ศ. 1258 รวมพระชันษาได้ 92 ปี
- ตำนานพระนางจามเทวีฉบับแปลและเรียบเรียงโดย นายสุทธวารี สุวรรณภาชน์ ระบุว่าประสูติเมื่อ พ.ศ. 1176 ครองราชย์ พ.ศ. 1202 สละราชสมบัติ พ.ศ. 1231 และสวรรคต พ.ศ. 1274

[2] คุณไสย ในพจนานุกรมไทยให้คำจำกัดความ คุณไสย ว่า "เป็นพิธีกรรมเพื่อทำร้ายอมิตร" เป็นศาสตร์ที่ทางวิทยาศาสตร์ไม่อาจจะพิสูจน์ได้ แต่เป็นที่รู้จักกันทั่วไป และมีคนเชื่อและผู้ปฏิบัติทั่วโลก

[3] ปู่แสะย่าแสะ เป็นผี บรรพบุรุษ ของพวก ลัวะ มีหน้าที่ดูแลรักษาเมืองเชียงใหม่ กษัตริย์ ขุนนาง และชาวบ้าน จะต้องร่วมกัน ทำพิธีเลี้ยงผี ปู่แสะย่าแสะ เป็นประจำทุกปี ในวันขึ้น หรือ แรม 4 ค่ำ เดือน 9 เหนือ โดยการ ฆ่าควาย เซ่นสังเวย ในพิธีเลี้ยง มีการเข้าทรง 'เจ้านาย' เพื่อ พยากรณ์ ถึงความเป็นอยู่ และความอุดมสมบูรณ์ ของ บ้านเมืองด้วย คนโบราณ เชื่อว่า หากไม่ทำพิธีเลี้ยงผีปู่แสะย่าแสะ จะทำให้ บ้านเมือง ไม่สงบสุข เกิดภัยพิบัติ ดังเช่นในสมัย พระเจ้าเมกุฎิ ที่ห้ามชาวบ้าน ทำพิธีบูชา จึงเป็นเหตุให้เมืองเชียงใหม่ ต้องเสียเอกราช ตกเป็นเมืองของพม่า

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้