ตำนาน เวียงพางคำ เวียงพานคำ เวียงพาน






สถานที่ตั้ง

  เวียงพางคำ ตั้งอยู่ที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย บริเวณรอบที่ว่าการอำเภอแม่สายทั้ง สองฟากถนนพหลโยธิน แนวเขตด้านเหนือ อยู่ห่างจากชายแดนติดต่อกับอำเภอท่าขี้เหล็กของสหภาพพม่า ประมาณ ๑ กิโลเมตรเศษ ส่วนแนวเขตด้านใต้อยู่ใต้ที่ว่าการอำเภอประมาณ ๖๐๐ เมตร ส่วนด้านตะวันออก และตะวันตกของถนนนั้น มีแนวกำแพงเดิมห่างจากถนนด้านละประมาณ ๕๐๐-๖๐๐ เมตร ตามความโค้ง ของถนน

ประวัติความเป็นมา

  เวียงพางคำ ปรากฏชื่อในตำนานสิงหนติโยนกชัยบุรีศรีเชียงแสน ว่าเป็นเมืองที่บูรณะขึ้นจากเมืองเดิม ของชาวลัวะ[1] ที่ชื่อว่า เวียงสี่ทวง ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำสาย พระองค์พังเสียเมืองโยนก[2] ให้แก่ขอมต้องไปพำนักที่ เมืองสี่ทวงและไปได้พระโอรสที่นี่ คือพระองค์พรหมกุมาร พระองค์พรหมกุมารอายุได้ ๑๖ พรรษา ก็ปราบขอมได้โยนกคืน และทรงพระสุบินว่าจะได้พญาช้างเผือกสามเชือกมาเป็นช้างคู่บารมี วันต่อมาพบงูใหญ่ลอย มาตามแม่น้ำโขง ก็ปล่อยให้ผ่านไปสองตัว จนถึงตัวที่สามจึงสงสัยว่าอาจเป็นช้างที่ปรากฏในฝัน จึงคล้องไว้ และพบว่าเป็นช้างจริง แต่ช้างไม่ยอมขึ้นจากน้ำ ปุโรหิตแนะนำให้นำทองคำมาตีเป็นพานอัญเชิญขึ้น ช้างจึงยอมขึ้นจากน้ำ และพาพระยาพรหมไปยังเวียงสี่ทวง พระยาพรหมได้ปรับปรุงและปฏิสังขรณ์[3] เวียงสี่ทวงใหม่ และเปลี่ยนชื่อเป็นเวียงพานคำ ในภายหลังเวียงพางคำได้รับการบูรณะปรับผังเวียงแล้วกลายเป็นเมืองร้างไป หลายศตวรรษ โดยไม่ปรากฏบทบาทในตำนานหรือประวัติศาสตร์อีก

จากอาณาจักรโยนกเชียงแสนมาตั้งเมืองที่ป่าลับแล ให้ชื่อว่า "เมืองลับแล"

ลักษณะทั่วไป

    เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า วางตัวในแนวทิศเหนือ - ใต้ ขนาด ๕๐๐ x ๑,๕๐๐ เมตร มีคูเมืองชั้นเดียวกว้าง ๑๕.๒๐ เมตร สูง ๓ เมตร

หลักฐานที่พบ

    ปัจจุบันนี้ร่องรอยเดิมของเวียงพางคำได้แก่แนวกำแพงและคูน้ำลึก ซึ่งบางจุดก็ปรากฏครบทั้งสอง
อย่าง บางแห่งเหลือเพียงคูน้ำลึก และบางแห่งอาศัยลำห้วยธรรมชาติกับเนินเขา ดังนี้ 

๑. ทิศเหนือ มีแนวกำแพงที่ด้านเหนือของวัดเวียงพาน กับเหลือกำแพงเล็กน้อยด้านตะวันออกของ ถนนซึ่งขนานไปกับถนนไปโรงฆ่าสัตว์
๒. ทิศตะวันออก ถึงมุมด้านตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณบ้านป่ายางเหลือกำแพงกับคูน้ำลึกเป็นแห่งๆ
๓. ทิศใต้ ปรากฏแนวกำแพงชัดเจนทางฟากตะวันตกของถนน เป็นแนวกำหนดเขตแดนของสถานีใบยาสูบแม่สาย
๔ ทิศตะวันตก เป็นด้านที่มีร่องรอยมากกว่าด้านอื่น คือ ที่หลังวัดเวียงพานหลังโรงพยาบาลแม่สาย หลังวัดพรหมวิหาร และหลังสถานีใบยาสูบแม่สาย มีทั้งกำแพงและคูน้ำลึก นอกจากนี้มีคูน้ำธรรมชาติหลัง โรงเรียนดรุณราษฎร์วิทยา และคูน้ำหลังอาคารที่ว่าการอำเภอแม่สาย






เส้นทางเข้าสู่เวียงพางคำ

   ถนนพหลโยธินได้ผ่าเวียงพางคำจากเหนือลงใต้ออกเป็นสองฟาก ซึ่งมีถนนซอยหลายซอยออกไปยัง ชุมชนทั้งสองฟาก นอกจากนี้บางส่วน ของแนวเวียงพางคำอยู่ในเขตของสถานที่ราชการ หรือติดต่อกับสถานที่ ราชการ และชุมชน การเข้าไปชมร่องรอยของเวียงพางคำจึงสะดวกทุกด้าน

________________________________

[1] ชาวลัวะ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่อาศัยอยู่ตามเชิงเขา ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มชาวไทยภูเขา ลัวะมีชื่อเรียกต่างๆ กัน เช่น ชาวม่านเรียกชนเผ่าถิ่นว่า ลัวะ ซึ่งเป็นคนละเผ่าพันธุ์กับลัวะในจังหวัดเชียงใหม่และแม่ฮ่องสอน นักมานุษยวิทยาได้จัดให้ชนเผ่าลัวะ อยู่ในกลุ่มภาษาออสโตรเอเซียติก สาขาย่อยมอญ - เขมร ซึ่งอยู่ในกลุ่มตระกูลภาษาเดียวกับชาวิ่นชาวชมุ และมระบรี (ผีตองเหลือง) แต่ชาวลัวะเรียกตนเองว่า ละว้าหรือว้า
[2] เมืองโยนก อาณาจักรโยนกเชียงแสน   (พุทธศตวรรษที่ 12 – 16)   เป็นอาณาจักรเก่าแก่ของชนชาติไทยมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 13  ตั้งอยู่บริเวณภาคเหนือของประเทศไทย  ปัจจุบันคือ อำเภอเชียงแสน  จังหวัดเชียงราย  เป็นสถานที่ตั้งถิ่นฐานครังแรกหลังจากที่ชนชาติไทยได้อพยพหนีการรุกรานของจีนลงมา   โดยพระเจ้าสิงหนวัติ โอรสของพระเจ้าพีล่อโก๊ะ  ได้เป็นผู้ก่อตั้งอาณาจักรโยนกเชียงแสน หรือ โยนกนาคนคร ขึ้น  นับเป็นอาณาจักรทีมียิ่งใหญ่และสง่างาม  จนถึงสมัยของพระเจ้าพังคราช จึงตกอยู่ภายใต้อารยธรรมและการปกครองของพวก “ลอม”  หรือ  “ขอมดำ”  ซึ่งเป็นชนชาติที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ ก่อนที่จะมีการก่อตั้งอาณาจักรโยนกเชียงแสน ได้เข้ายึดครองโยนกเชียงแสน
[3] ปฏิสังขรณ์   v. restore Syn. บูรณะ,ซ่อมแซม,แก้ไข,ฟื้นฟู,ปรับปรุง,ซ่อม,ปฏิรูป Related. repair,renovate Def. ซ่อมแซมทำให้กลับคืนดีเหมือนเดิม (มักใช้เฉพาะวัดวาอาราม) Sample: คณะกรรมการอนุมัติให้กรมศิลปากรปฏิสังขรณ์โบราณสถาน

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้