ตำนาน เขาสามบาตร





ถ้ำเขาสามบาตร





สถานที่ตั้ง ถ้ำเขาสามบาตร ตั้งอยู่ในเขตหมู่ที่ ๔ ตำบลนาตาล่วง อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง

ประวัติความเป็นมา

๑. จากตำนานปริศนาลายแทงเขาสามบาตร ซึ่งชาวบ้านแถบนั้นเล่าสืบต่อกันมาว่า ภายในถ้ำเขาสามบาตรนี้ ได้มีผู้นำเอาทรัพย์สมบัติมาซุกซ่อนเอาไว้มากถึง ๓ บาตรพระ และยังได้ผูกปริศนาลายแทง[1] เอาไว้ว่า 

"ขึ้นต้นขาม (มะขาม) ข้ามต้นทึง (กระทิง) ถึงต้นข่อยคอย (ก้ม) ลงมา ไม้ค่า (แค่) วา คัดออก ใครทายออกกิน ไม่รู้สิ้น" 

และเล่ากันว่ามีเจ้านายคนหนึ่งขี่ช้างมาแก้ปริศนานั้นตกจึงได้เอาสมบัติไปหมดแล้ว

๒. จากการสำรวจทางโบราณคดี ในปัจจุบันถ้ำเขาสามบาตร ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งโบราณคดีแล้ว มีรายงานของคณะสำรวจหลายคณะที่ได้เข้าสำรวจถ้ำเขาสามบาตรดังนี้

๑) สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ เสด็จมาสำรวจเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๕ และได้ทรง บันทึกถึงการพบร่อยรอยบันทึกบนผนังถ้ำ และทรงวินิจฉัยว่า เป็นตัวอักษรไทยสมัยอยุธยาแบบเดียวกับที่วัดป่าโมกข์ ร่วมสมัยพระเจ้าท้ายสระ (พ.ศ. ๒๒๕๒-๒๒๗๕)



๒) นายวรรณยุทธ ณ วิลาศ จากหน่วยศิลปากรที่ ๙ เข้ามาสำรวจเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๙ และราย งานว่าเป็นถ้ำที่มีหนังสือไทยจารึกไว้บนผนังถ้ำ

๓) คณะสำรวจแหล่งโบราณคดี จากกองโบราณคดีกรมศิลปากรเข้ามาสำรวจเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๓ และรายงานไว้ว่าพบจารึกอักษรไทยสมัยอยุธยา และหลักฐานสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เช่น เศษภาชนะดิน เผา และเครื่องมือหิน



๔) คณะชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโรงเรียนสภาราชินี จังหวัดตรัง เข้าทำการสำรวจเพิ่มเติมเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๓ และรายงานว่าพบหลักฐานทั้งสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และสมัยประวัติศาสตร์อยู่ร่วมกัน และ ยังได้ค้นพบหลักฐานชิ้นใหม่เพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่ง คือภาพเขียนสีแดง เป็นรูปภาพคล้ายภูเขาสามลูกต่อกัน อยู่ ในซอกผนังถ้ำเขาสามบาตร



ลักษณะทั่วไป

ถ้ำเขาสามบาตรเป็นถ้ำแห้ง ปากถ้ำกว้างประมาณ ๔ เมตร และอยู่สูงจากระดับพื้นดินประมาณ ๓-๔ เมตร ทางขึ้นสู่ถ้ำชันมาก ปากถ้ำกว้างประมาณ ๔ เมตร เพดานถ้ำมีลักษณะโค้งรูปโดม ตามผนังทั้งสองข้าง มีหลืบเป็นซอกเล็ก ๆ หลายหลืบ ถ้ำเขาสามบาตรแบ่งออกได้ ๔ ส่วนดังนี้

๑. ถ้ำส่วนหน้า คือส่วนที่เริ่มตั้งแต่ปากถ้ำ เข้าไปประมาณ ๔ เมตร จนถึงส่วนที่พื้นถ้ำค่อยลาดต่ำลงกว่าส่วนหน้า

๒. ถ้ำเสาภูมิ ส่วนนี้เริ่มต้นจากบริเวณพื้นถ้ำที่เริ่มลาดชันลงไปจนถึงส่วนที่มีหินงอกลงมาจากเพดานถ้ำ เป็นรูปเสาค้ำยันถ้ำ ชาวบ้านเรียกเสาหินนี้ว่า เสาภูมิ

๓. ถ้ำพระ เป็นส่วนที่ ๓ ของถ้ำเขาสามบาตร เริ่มต้นจากส่วนที่ติดต่อจากถ้ำเสาภูมิ (เสาหินงอก) ไปจนถึงช่องทะลุด้านหลังสุดของถ้ำทางทิศใต้ บนเพดานถ้ำ มีช่องแสงลอดลงมาได้ทำไม่มืดมาก ที่เรียกส่วนนี้ ว่าถ้ำพระเพราะในอดีตเคยมีพระพุทธรูปปูนปั้นอยู่องค์หนึ่ง แต่ปัจจุบันได้พังทลายไปแล้ว

๔. ถ้ำน้ำ เป็นถ้ำที่แยกจากส่วนถ้ำพระไปตามซอกแคบ ๆ ยาวประมาณ ๓ เมตร ภายในถ้ำน้ำมี ลักษณะกว้าง เพดานถ้ำไม่สูงนัก ภายในถ้ำมีทางออกได้อีกทางหนึ่งบริเวณทิศเหนือ สูงจากระดับพื้นดิน ประมาณ ๑๗ เมตร


หลักฐานที่พบภายในถ้ำเขาสามบาตร

ภายในถ้ำเขาสามบาตรมีหลักฐานในสมัยก่อนประวัติศาสตร์และหลักฐานสมัยประวัติศาสตร์ จำแนกหลักฐานได้ดังนี้
๑. หลักฐานสมัยก่อนประวัติศาสตร์
๑.๑ ภาพเขียนสี รูปทรงคล้ายภูเขาสามลูกต่อกัน ซึ่งเขียนด้วยสีแดง อยู่บริเวณซอกผนังถ้ำทาง ด้านซ้ายมือห่างจากปากถ้ำประมาณ ๓ เมตร ในถ้ำส่วนหน้า ภาพเขียนสีนี้อยู่บนผนังที่สูงจากพื้นถ้ำ ประมาณ ๑.๕ เมตร
๑.๒ เศษภาชนะดินเผาลายเชือกทาบ ที่มีเนื้อดินหนา สีแดง และสีดำ รูปทรงแตกต่างกันหลาย รูปแบบ หลักฐานเหล่านี้พบมากบริเวณส่วนถ้ำเสาภูมิ ถ้ำพระ และถ้ำน้ำ
๑.๓ พบเครื่องมือหิน ขวานหินขัด เปลือกหอย และลูกปัดที่ทำด้วยเปลือกหอย
๒. หลักฐานสมัยประวัติศาสตร์
๒.๑ จารึกบนผนังถ้ำ เป็นจารึกที่เขียนด้วยอักษรไทยร่วมสมัยอยุธยา เขียนด้วยสีแดงบนพื้นสี ขาว เป็นบันทึกที่บอกเรื่องราวการประดิษฐานพระพุทธรูปในถ้ำ เมื่อ พ.ศ. ๒๑๕๗ จารึกนี้พบบริเวณถ้ำส่วน หน้า สูงจากพื้นถ้ำประมาณ ๓ เมตร ข้อความจารึกมีดังนี้

" กำไวเมือพระบาดเจ้าพระเพด พระศรีค่งพระพรมพระพุทรักษาแลเจาเน่นทังหลายมาเลิกสาด สนาพระเจาในเขาสะบาปและพระเจานัน ธรรมาณรายมา... แลวแลพระบาดเจ้ามาเปนพระ...แก...ขุนนาง กรมการทัง...เมืองแลสัปรุศชายญ...ให้เลิกสาศนาพระพุทเจา กํบริบูน แลวแลสัปรุศ...ชวนกันฉลอง
กุสลบุญแล เพือวาจะปรา ถนาพ่นจากทุก...หาสุ่กกุราชได้สองพัน ร้อยหาสิบ เจ็ดปี เจดวันนันแล... สุ่กกุราชใด...ปี เมือญกพระเจาวัน สุกเดือนเจดขึ้นสองค่า...นักสัตร่ฉสบกบอก ไวให้เปน... สิน... แลผูจํ...นาไปเมือหน้า"   

แปลความได้ว่า พุทธบริษัท มีพระภิกษุ เณร ขุนนาง กรมการเมือง และสัปบุรุษชายหญิง ได้มายก พระพุทธรูปของเดิมซึ่งชำรุดนั้น บูรณะให้ดีขึ้นสมบูรณ์ แล้วร่วมกันฉลองแห่ส่วนบุญกุศล ปรารถนาให้พ้น จากทุกข์

๒.๒ เศษภาชนะดินเผา เครื่องใช้ต่าง ๆ ที่มีเนื้อดินสีขาว เนื้อดินละเอียด รูปทรงคล้ายคณโฑ มี พวยแบบกาน้ำซึ่งพบอยู่บริเวณถ้ำน้ำ มีทั้งแบบมีลายเชือกทาบและแบบเรียบมีสีดำ สีแดง บางภาชนะมีขา ลักษณะคล้ายหม้อสามขา
๒.๓ เปลือกหอย มีทั้งหอยน้ำจืดและน้ำเค็ม หอยประเภทสองฝาและหอยฝาเดียว
๒.๔ พบพระดินดิบมาก กองอยู่ในถ้ำเสาภูมิ แต่ปัจจุบันได้สูญหายไปหมดแล้ว

เส้นทางเข้าสู่ถ้ำเขาสามบาตร

............จากตัวเมืองจังหวัดตรังไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ ๕ กิโลเมตร จะถึงเขาสามบาตรซึ่ง เป็นภูเขาลูกโดดขนาดย่อม ตั้งอยู่ในเขตธรณีสงฆ์[2] วัดไพรสณฑ์ หมู่ที่ ๔ ตำบลนาตาล่วง อำเภอเมืองตรัง

____________________________________________

[1] ปริศนาลายแทง [N] ความหมาย คือ puzzle of clue to a hidden treasure,ข้อความที่เป็นปริศนาเป็นเครื่องแสดงขุมทรัพย์ที่ฝังอยู่ในดินเป็นต้น,,,
ตัวอย่าง :: นักโบราณคดีค้นหาสมบัติตามลายแทงปริศนา

[2] ธรณีสงฆ์  (อ่านว่า ทอระนี-) แปลว่า ที่ดินของสงฆ์

      ธรณีสงฆ์ เป็นชื่อเรียกที่ดินอันเป็นสมบัติของวัดตามเอกสารสิทธิ์
แต่อยู่นอกอาณาเขตของวัด โดยอาจอยู่ต่างตำบลต่างอำเภอก็ได้
เรียกเต็มว่า ที่ธรณีสงฆ์ เป็นที่ที่มีผู้ถวายให้แก่วัดใดวัดหนึ่งเพื่อเป็น
สมบัติของวัดนั้น ซึ่งอาจเป็นที่นา ที่สวน หรือที่ดินที่มีอาคารปลูกสร้าง
โดยถวายทั้งที่ดินและผลประโยชน์

      ตามกฎหมาย ที่วัดและที่ซึ่งขึ้นต่อวัด มีดังนี้
      ๑. ที่วัด คือ ที่ซึ่งตั้งวัดตลอดจนเขตของวัดนั้น
      ๒. ที่ธรณีสงฆ์ คือ ที่ซึ่งเป็นสมบัติของวัด
      ๓. ที่กัลปนา คือ ที่ซึ่งมีผู้อุทิศแต่ผลประโยชน์ให้วัดหรือพระศาสนา

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้